LESSON 1 วิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อสุขภาพ

บทที่1
วิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อสุขภาพ


          สุขภาพร่างกายที่ดีย่อมส่งผลให้โอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย คนที่มีสุขภาพอ่อนแอเจ็บป่วย ย่อมบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ เป็นอุปสรรคต่อการทำงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทางราชการหรือหน่วยงานเอกชนก็ตาม ดังนั้นการพัฒนาสังคมจึงจะต้องเริ่มจากกาารพัฒนาคุณภาพทางกายของตนเองก่อนดังพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งที่ว่า "ร่างกายของเรานั้นธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้ออกแรงใช้งานไม่ใช่อยู่เฉยๆ ถ้าใช้แรงให้พอเหมาะพอดีโดยสม่ำเสมอ ร่างกายก็จะเจริญแข็งแรง คล่องแคล่วและคงทนยั่งยืน ถ้าไม่ใช้แรงเลย หรือใช้ไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะเจริญแข็งแรงอยู่ไม่ได้ แต่จะค่อยๆเสื่อมลงไปตามกาลเวลาและหมดสมรรถภาพก่อนเวลาอันสมควร ดังนั้น ผู้ที่ปรกติทำการงานที่ไม่ได้ใช้กำลังหรือใช้กำลังแต่น้อย จึงจำเป็นต้องหาเวลาออกกำลังกายให้เพียงพอกับความต้องการตามธรรมชาติสม่ำเสมอทุกวัน มิฉะนั้นร่างกายที่ไม่ได้ออกกำลังกายหรือใช้แรงน้อยจะเสื่อมประสิทธิภาพลง จะทำให้สุขภาพไม่แข็งแรง ไม่สดใสทั้งกาย และใจ...."


(พระราชดำรัสในโอกาสประชุมสัมมนาเรื่อง การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

ณ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2523)



ภาพที่ 1.1 พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชการที่ 9 ทรงเรือใบ
แหล่งที่มารูปภาพ 
http://sudsapda.com/top-lists/33572.html

วิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อสุขภาพ
วิทยาศาสตร์การกีฬา มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Sport Science เป็นศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ประยุกต์สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ มุ่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกีฬาและการออกกำลังกายที่มีต่อมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นด้านจิตใจ ร่างกาย หรือว่าสังคม เพื่อนำข้อค้นพบมาสร้างศักยภาพทางร่างกายให้กับมนุษย์ทำให้ศาสตร์นี้เป็นศาสตร์เปิดกว้าง อาศัยหลักการศึกษาทั้งทางด้านสรีรวิทยา จิตวิทยา สังคมวิทยา หรือแม้แต่หลักทางการตลาดลารบริการ เกิดเป็นสหวิทยาการที่มีเนื้อหาของกลุ่มรายวิชาหลักๆ คือ
            -โภชนาการสุขภาพและการกีฬา
            -จิตวิทยาสุขภาพและการกีฬา
            -เวชศาสตร์การกีฬา
            -การฝึกและสอนกีฬา
            -การบริหารและจัดการการกีฬา
            -เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการกีฬา
ภาพที่ 1.2 การออกกำลังกายแบบโยคะ
แหล่งที่มารูปภาพ http://bestslim.org/bai-tap-duc-giup-giam-can-toan-hieu-qua/

ความสำคัญของวิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อสุขภาพ
            ความสำคัญของวิทยาศาสตร์การกีฬามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมากเพราะเป็นศาสตร์เดียวที่สามารถตอบสนองการพัฒนาศักยภาพทางกายของมนุษย์ ให้สามารถแข่งขันได้กับนานาประเทศ อีกทั้งยังเป็นศาสตร์ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างสุขภาพของประชากรในประเทศควบคู่กับการจัดการเรียนการสอนพลศึกษา-สุขศึกษาในสถานศึกษาเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการขาดการออกกำลังกายและเล่นกีฬา

ประวัติของวิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อสุขภาพ
            การออกกำลังกายอยู่คู่กับมนุษย์มานานนับพันนับเหมื่นปี ตั้งแต่มนุษย์เริ่มอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นสังคมและสร้างอารยะธรรมในยุคแรกเริ่ม บรรพบุรุษของมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นในโลกเมื่อหลาล้านปีก่อน และวิวัฒนาการตัวเองเรื่อยมาจนมีลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงกับมนุษย์ในยุคปัจจุบันเมื่อไม่กี่แสนปีมานี้ ด้วยเหตุที่เป็นจุดสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร ชีวิตประจำวันของมนุษย์ในยุคโบราณจึงเกี่ยวข้องกับการล่าสัตว์เพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารในการดำรงชีวิตเป็นสำคัญ (Anderson 1985) นอกจากการล่าสัตว์แล้วเนื่องจากสังคมมนุษย์ในยุคนั้นเป็นสังคมที่ไม่พึงพอเทคโนโลยีที่สลับซับซ้อน อีกทั้งการคมนาคมขนส่งยังไม่รับการพัฒนา จำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์จะต้องใช้พลังงานในการประกอบกิจวัตรประจำวันอย่างสูง เช่น การเดินทางไปพบปะสังสรรค์เพื่อนสนิท ญาติ พี่ น้อง ที่อาจตั้งบ้านเรือนห่างไกลออกไปหลายกิโลเมตร การเดินทางไปหาแหล่ง เป็นต้น (Eaton, Shostak & Konner, 1998) สิ่งเหล่านี้คือการออกกำลังกายในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในยุคโบราณ และเป็นแรงผลักดันทางกายภาพที่ทำให้มนุษย์จำเป็นจะต้องมีสมรรถภาพทางกายที่ดี ดังนั้น การออกกำลังกายจึงเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางกายที่เราประกอบในการดำรงชีวิตในแต่ละวัน หรือก็คือกิจกรรมที่เกิดขึ้นในการดำรงชีวิตประจำวัน(Life Style)
ภาพที่ 1.3 การออกกำลังกายแบบแอโรบิก
แหล่งที่มารูป https://www.vichaivej.com/nongkhaem/news-detail.php?item=1279

การออกกำลังกายสมัยก่อนประวัติศาสตร์
            เมื่อ 4 – 6.5 ล้านปีก่อน บรรพบุรุษของมนุษย์ยุคใหม่ยังอาศัยอยู่ในฝั่งตะวันออกของแอฟริกาซึ่งเริ่มแห้งแล้งลง ความต้องการและสัญชาตญาณในการดำรงชีวิต ก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านสรีรวิทยาอย่างหนึ่ง คือ บรรพบุรุษของมนุษย์บางกลุ่มเริ่มจะยืนขึ้นและเดินด้วย 2 ขาหลังเพื่อเอื้อมไปเก็บอาหารการกินจากต้นไม้เตี้ยๆ ในขณะที่บรรพบุรุษของลิงยังคงเดินด้วยมือเหมือนเป็นเท้า 4 ข้าง เมื่อวิวัฒนาการมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเดินได้ด้วย 2 ขา มนุษย์จึงมีมือซึ่งเป็นอวัยวะแห่งการพัฒนา เริ่มหยิบจับสิ่งต่างๆ มาเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตประจำวันช่วงเวลาที่เราใช้ในการวิวัฒนาการเกิดขึ้นตอนหลังจากที่เดินสองขาได้อยู่ในช่วง 3-5 ล้านปีก่อน

            การที่เราสามารถเดินได้ด้วย 2 ขาหลัง ทำให้ความเร็วในการเคลื่อนที่เพิ่มขึ้น หากแต่ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ลดลง ถ้าเปรียบเทียบกับลิงชิมแปนซีที่มีความเหมือนทางพันธุกรรมกับมนุษย์ถึงร้อยละ 97 พบว่า ชิมแปนซีมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงกว่ามนุษย์ 2-3 เท่า ซึ่งมาจากเส้นใยกล้ามเนื้อที่มากกว่า (เรากับชิมป์ต่างกันแค่ไหน,2554)
ภาพที่ 1.4 Australopithecus aphaeresis เต็มวัย

แหล่งที่มาของรูปภาพ https://pages.vassar.edu/realarchaeology/2017/02/26/diet-of-australopithecus-afarensis/

Australopithecus aphaeresis เป็นบรรพบุรุษสายตรงของมนุษย์ ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงประมาน 4 ล้านปีก่อน และเป็นกลุ่มแรกๆที่ได้รับการยืนยันว่าเริ่มยืนและเดินด้วยสองขาหลัง นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ประวัติศาสตร์ที่มนุษย์เริ่มมีกิจกรรมทางกานที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายโดยการทำกิจกรรมที่มีลักษณะเหมือนการเดินและการวิ่งคล้ายกับมนุษย์ในยุคปัจจุบัน
            และอย่างที่กล่าวมาแล้ว เมื่อจุดเปลี่ยนสำคัญในสายวิวัฒนาการ คือ การเดินด้วยขาหลัง ขาหน้าซึ่งกลายเป็นมือ จึงได้ใช้ประโยชน์ในการหยิบจับสิ่งของและการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ต่างๆตามที่สมองจะรังสรรค์ ส่งผลให้เราพัฒนาตัวเองมาจนถึงปัจจุบัน
ภาพที่ 1.5 Hippocrates นักปราชญ์ชาวกรีกมีชีวิตอยู่ในช่วง 460-370 ปีก่อนคริสตกาล


           เมื่อ 400  ปีก่อนคริสตกาล Hippocrates นักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ ที่มีชื่อเสียงของกรีซ ได้กล่าวว่า “ If we could give every individual the right amount of nourishment and exercise, not too little and not too much, we would have safest” (การกินอาหารและออกกำลังกายที่เหมาะสม ไม่มากและไม่น้อยเกินไป จะทำการให้เรามีสุขภาพที่สมบูรณ์) (ministry of Health Planning, 2003) ในสังคมโบราณหลายวัฒนธรรมจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายมากนัก เนื่องจากมนุษย์ในยุคก่อนมีกิจกรรมทางกายที่หลากหลาย โดยไม่พึ่งพาเทคโนโลยีแต่จะให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารโดยเฉพาะอาหารที่แปลกหายาก เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น
            Hippocrates เขียนหนังสือขึ้นมาสองเล่มและพยายามเน้นย้ำในงานเขียนของเขาว่าการกินอาหารอย่างเดียวไม่ได้ทำให้ร่างกายดีขึ้น มนุษย์จำเป็นจะต้องออกกำลังกายด้วย หากเรากินและออกกำลังกายควบคู่กันไปจะทำให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น (Jones. 1953) คำพูดดังกล่าวได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับการออกกำลังกายและเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้มนุษย์หันมาสนใจสุขภาพตนเองโดยการออกกำลังกายมากขึ้น และเขายังเป็นคนแรกที่แนะนำผู้ที่ต้องการลดความอ้วนให้โดยเร็วและให้ได้ระยะทางมากๆ และได้แนะนำให้ผู้ที่เริ่มจะออกกำลังกายต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยความระมัดระวัง

            สำหรับในประเทศไทยพบว่าการขาดกิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอยู่ในลำดับที่ 9 และข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สำรวจพฤติกรรมการออกกำลังกายของประชากรปี 2546 , 2547 และ 2550 พบว่าคนไทยที่มีอายุ 11 ปี ขึ้นไปซึ่งมีอาการเจ็บป่วยในรอบ 1 เดือน ที่ผ่านมาร้อยละ 68.4 เป็นผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ส่วนผู้ที่เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมาร้อยละ 72.4 เป็นผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายทั้งนี้ทั้งนั้นสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มดีขึ้นจากข้อมูลการสำรวจสุขภาพคนไทยที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไปพบว่ามีการประกอบกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพิ่มขึ้นจากการสำรวจปี 2546 - 2547 ที่ร้อยละ 77.5 เป็น ร้อยละ 81.5 ในปี 2551 - 2552 และยังคงพบว่า คนไทยที่ออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์ ด้วยระยะเวลาความนานมากกว่า 30 นาที/ครั้ง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 30.9 ในปี 2548 เป็น 37.4 ในปี 2550 ( สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, 2555)
ภาพที่ 1.6 ถามอาการคนไข้
แหล่งที่มาของรูปภาพ https://www.hatyailike.com
            นอกจากนี้ยังพบอีกว่าประชากรในวัยเด็กมีการออกกำลังกายมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งเป็นเพราะอยู่ในวัยเรียน และการเล่นกีฬา การออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอน สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานพฤติกรรมการออกกำลังกายของประชากร ปี 2550 พบว่าวัยเด็กมีการออกกำลังกายร้อยละ 73.1 รองลงมาเป็นกลุ่มเยาวชนและประชากรสูงอายุที่ร้อยละ 45.4 และ 28.0 และกลุ่มคนทำงานออกกำลังกายน้อยที่สุด คือ 19.7 และในกลุ่มอายุปรากฏว่าเพศชายจะออกกำลังกายมากกว่าเพศหญิง มีผู้ออกกำลังกายในประเทศไทยเมื่อปี 2550 ทั้งสิ้น 16.3 ล้านคน ร้อยละ 47.9  จะเล่นกีฬาประเภทต่างๆ นอกจากนั้นจะใช้กิจกรรมออกกำลังกาย เช่น การเดิน วิ่ง เต้นแอโรบิก เล่นฟิตเนต รำไม้พลอง โยคะ ไทเก๊ก จี้กง เป็นต้น ( สำนักงานสถิติแห่งชาติ,2551 )

จะเห็นได้ว่าสุขภาพและกิจกรรมนั้นมีความสอดคล้องกันอย่างไม่อาจแยกกันได้ ผู้ที่มีสุขภาพดีจึงเป็นผู้ที่มีกิจกรรมทางกายมากและหลากหลายตามไปด้วย เราจึงจำเป็นจะต้องจัดสรรกิจกรรมต่างๆ ในการดำรงชีวิตให้เพียงพอเพื่อให้มีสุขภาพดีและดำเนินชีวิตได้อย่างมีเป็นสุข
ภาพที่ 1.7 ออกกำลังกายแบบโยคะ
แหล่งที่มารูปภาพ http://www.smeleader.com/
ความเป็นมาของวิทยาศาสตร์การกีฬาในประเทศไทย
ภาพที่ 1.8 รวมกีฬาชนิดต่างๆ
แหล่งที่มาของรูปภาพ http://www.admissionpremium.com/sports/news/2087

              การเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์การกีฬาในประเทศไทยนั้น คงจะเริ่มต้นจากการวิวัฒนาการของการพลศึกษา คือ เริ่มจากความเชื่อว่าพลศึกษาหรือออกกำลังกาย มีผลทำให้ร่างกายมีความแข็งแรง อดทน ว่องไว และทำให้มีสุขภาพดี ความเชื่อนี้ได้เริ่มต้นขึ้นมาเมื่อใดยังไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนแต่สันนิษฐานว่าคงจะมีมานานหรือไม่ก็คงมีมาพร้อมๆ กับประวัติศาสตร์ของชาติไทย ดังจะเห็นได้ว่าคนไทยได้มีการฝึกกีฬามวยและกระบี่กระบองเป็นเวลานานแล้ว และความมุ่งหมายของการฝึกหัดในกีฬาทั้งสองนั้นจริงอยู่ความมุ่งหมายอย่างหนึ่งเพื่อให้มีความช่ำชอง เพื่อช่วยป้องกันตัวและต่อสู้กับข้าศึกศัตรูได้ แต่ความมุ่งหมายที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ไม่อาจที่จะปฏิเสธได้นั้นก็คือทำให้ร่างกายมีความแข็งแรง อดทน มีความคล่องแคล่วว่องไว ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าประชาชนพลเมืองไทยของเราโดยเฉพาะผู้ชายนั้นจะมีการฝึกหัดกีฬามวยและกีฬากระบี่กระบองเป็นประจำมาตั้งแต่ในสมัยโบราณแล้ว แต่อย่างไรก็ดีหลักฐานที่แน่ชัดทำให้สามารถทราบถึงการเริ่มต้นของความเชื่อว่าการพลศึกษาและการออกกำลังกายมีผลดีแก่ร่างกายนั้น ได้มีการตั้งโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์เมื่อ พ.. 2435 และหลังจากที่ท่านพระยาธรรมศักดิ์มนตรีซึ่งเป็นนักเรียนรุ่นแรกได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ และเดินทางกลับจากกการศึกษาต่อในประเทศอังกฤษแล้วท่านก็ได้เป็นผู้บรรยายในวิชาเอ็กซ์เซอร์ไซส์ (Exercise) หรือวิชาการออกกำลังกาย ในระหว่างที่ท่านเป็นอาจารย์สอนอยู่ในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์แห่งนี้ด้วยโดยหวังว่าเมื่อนักเรียนฝึกหัดอาจารย์ได้สำเร็จการศึกษาไปแล้วจะได้นำวิชาเอ็กซ์เซอร์ไซส์นี้ไปสอนให้แกนักเรียนของตนเองต่อไปได้ดี หลังจากนั้นต่อในปี พ.. 2440 ก็ได้มีการจัดกิจกรรมที่สำคัญที่แสดงว่าได้มีความเชื่อในผลของพลศึกษาและการออกกำลังกายที่มีต่อร่างกายอีก คือ ได้มีการจัดการแข่งขันกรีฑานักเรียน หน้าพระที่นั่ง ณ ท้องสนามหลวง เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จนิวัติจากประพาสยุโรปเมื่อ พ.. 2440 ในการ
ภาพที่ 1.9 กีฬากรีฑา
แหล่งที่มารูปภาพ http://www.thanyaburi45.rmutt.ac.th/all-gallery/10737-2


เหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งสำหรับวงการพลศึกษาและวิทยาศาสตร์การกีฬาของไทยอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในปี พ.. 2441 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศโครงการศึกษาแห่งชาติฉบับแรกของไทยขึ้นมานั้น ได้กำหนดให้มีวิชาการฝึกหัดร่างกายในหลักสูตรของการเรียนด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อในผลงานของการพลศึกษาหรือการออกกำลังกายที่มีต่อร่างกายและจัดให้มีการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการพลศึกษาของไทย
            เหตุการณ์ที่สำคัญที่แสดงให้ในการยอมรับและเชื่อในผลของการพลศึกษาและการออกกำลังกายที่เกิดขึ้นตามลำดับจากที่ได้มีการกำหนดให้มีการเรียนการสอนในวิชาฝึกหัดร่างกายในโครงการการศึกษาแห่งชาติฉบับแรกที่พอจะนำมากล่าวได้มีดังนี้ ในปี พ.. 2456 ได้มีการจัดตั้งห้องพลศึกษากลางขึ้น เพื่อฝึกหัดครูพลศึกษา ไปทำหน้าที่สอนพลศึกษาและการออกกำลังกายให้แก่นักเรียนในโรงเรียน โดยมีหลวงเชษฐพลศิลป์เป็นผู้อำนวยการ ในปี พ.. 2475 แผนการศึกษาแห่งชาติได้มีการกำหนดให้มีการตัดการศึกษาเป็น 3 องค์ คือ พุทธิศึกษา จริยศึกษา และพลศึกษา นับจากนั้นมาการพลศึกษาก็ได้รับการบรรจุเป็นองค์หนึ่งในแผนการศึกษาแห่งชาติตลอดทุกแผนจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าในแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับ พ.. 2535 จะไม่ได้กำหนดให้มีการศึกษาโดยแบ่งเป็นองค์เช่นฉบับก่อนก็ตาม แต่ความมุ่งหมายของแผนการศึกษาแห่งชาติทั้งสองฉบับยังเน้นถึงความสำคัญเกี่ยวกับพลศึกษาเช่นเดิม
             วันที่ 9 ธันวาคม พ.. 2476 รัฐบาลได้ลงความเห็นสำคัญของการจัดการศึกษาด้านนี้จึงได้ตั้งกรมพลศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการขึ้น ทำหน้าที่รับผิดชอบและดูแลปรับปรุงส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาในโรงเรียนในสถานศึกษาต่างๆ ให้ได้ผลดีและบรรลุตามความมุ่งหมายที่วางไว้
            ในปี พ.. 2493 นับเป็นปีที่วิชาทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย คือ ในปีนี้ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรการฝึกหัดครูพลศึกษาของไทยให้มีความสมบูรณ์อย่างแท้จริงด้วยความช่วยเหลือของศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญทางพลศึกษาชาวอเมริกา คือ ดร.ราฟ จอนสัน (Raph Johnson) ในหลักสูตรการฝึกหัดครูพลศึกษามี่มีการปรับปรุงใหม่ได้กำหนดให้มีการเรียนในรายวิชากายวิภาค วิชาสรีรวิทยา วิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว เพื่อให้นักศึกษาที่เรียนดังกล่าวได้นำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกและกิจกรรมทางพลศึกษาต่างๆ ให้เหมาะกับความสามารถของนักเรียนแต่ละเพศแต่ละวัยได้อย่างถูกต้องโดย ศาสตราจารย์ ดร. บุญสม มาร์ติน เป็นผู้บรรยายและกำลังสำคัญในการประยุกต์วิชาทั้งสามแขนงนี้ในวิชาพลศึกษา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพลศึกษาครั้งที่ 5 ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย คณะกรรมการเตรียมการจัดแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์การกีฬาในการพัฒนานักกีฬาทีมไทยให้พร้อมในการแข่งขัน จึงมอบหมายให้ศาสตราจารย์นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ รองอธิการมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) เป็นผู้รับผิดชอบเตรียมและดำเนินงานทางนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ ได้เริ่มลงมือศึกษาค้นคว้าวิชาการด้านนี้อย่างจริงจัง รวมทั้งเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศทั้งยุโรปและอเมริกาและจากการเตรียมการและการศึกษามาก่อนหน้านี้ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ ก็สามารถจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาภายใต้องค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย (การกีฬาแห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน) ขึ้นเมื่อ พ.. 2509 และได้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการด้วยตนเองนับแต่นั้นมาศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาจึงเป็นแหล่งวิชาการการศึกษาค้นคว้าวิจัยและเผยแพร่ความรู้ผลงานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาของไทยอย่างจริงจังจนปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่า ศาสตราจารย์นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ เป็นผู้ให้กำเนิดวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาของไทย

ภาพที่ 1.10 ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา
แหล่งที่มารูปภาพ https://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1396524808

ความหมายของวิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อสุขภาพ
            คำว่า วิทยาศาสตร์ ตรงกับภาษอังกฤษว่า “ Science” ซึ่งมาจากศัพท์ภาษาละตินว่า “Scienlia” แปลว่า ความรู้ (Knowledge) ได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลากหลายดังนี้
            วิทยาศาสตร์ (ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2543) หมายถึง ความรู้ที่ได้จากการสังเกตุและการค้นคว้าจากการประจักษ์ทางธรรมชาติ แล้วจัดเข้าเป็นระเบียบหรือวิชาที่ต้นคว้าได้หลักฐานและเหตุผลมาจัดเข้าเป็นระเบียบ
            ฉัตรชัย ประภัศร (2553)  กล่าวโดยสรุป วิทยาศาสตร์ หมายถึง ความรู้ที่ได้ศึกษาจากปรากฎการณ์ธรรมชาติหรือจากการทดลอง โดยเริ่มต้นจากการสังเกต การตั้งสมมุติฐาน การทดลองอย่างมีแบบแผน แล้วจึงสรุปทฤษฏีหรือกฏขึ้นแล้วนำทฤษฏีหรือกฎที่ได้ไปใช้ศึกษาหาความรู้ต่อไป
            ภพ เลาห ไพบูลย์ (2542) ได้สรุปความหมายของวิทยาศาสตร์ว่า วิทยาศาสตร์ค้นหาความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติ โดยใช้กระบวนการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิธีการทางวิทยาศาสตร์และเจตคติทางวิทยาศาตร์ เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ยอมรับโดยทั่วไป
            คำว่ากีฬา (Sport)  เป็นกิจกรรมหรือเป็นการใช้ทักษะทางกายเพื่อการแข่งขันโดยมีกติกาเป็นตัวกำหนดโดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อการพักผ่อน , เพื่อการแข่งขัน , เพื่อความเพลิดเพลิน , เพื่อความสำเร็จ , เพื่อการพัฒนาของทักษะหรือหลายสิ่งรวมกัน  กีฬาเป็นกิจกรรมที่ควงคู่กับการแข่งขันและระบบคะแนน  โดยมีผู้ให้ความหมายเกี่ยวกับกีฬาไว้ดังนี้
            กีฬา (ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2525) กิจกรรมหรือการเล่นเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน เพื่อเป็นการบำรุงแรงหรือผ่อนคลายความตึงเครียดทางจิต
            กีฬา (ตามจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี) เป็นกิจกรรมหรือการเลานพื่อความสนุกเพลิดเพลินหรือเพื่อความแข็งแรงของร่างกายหรือเพื่อความผ่อนคลายความตรึงเครียดทางจิตไปถึงกิจกรรมปกติหรือทักษะที่อยู่ภายใต้กฏกติกาซึ่งถูกกำหนดด้วยความเห็นที่ตรงกันโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพักผ่อนการแข่งขัน ความเพลิดเพลิน ความสำเร็จการพัฒนาของทักษะหรือหลายสิ่งรวมกัน กีฬาเป็นกิจกรรมที่ควบคู่กับการแข่งขันและระบบคะแนน
            ฉัตรชัย ประภัศร กล่าวโดยสรุป กีฬา (Sport) การทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวของร่างกายภายในเวลาที่ว่าง โดยกิจกรรมกีฬาหรือกิจกรรมการเคลื่อนไหวแบบใดก็ได้เพื่อความสนุกสนานหรือแข่งขันกันเพื่อชัยชนะและความเป็นเลิศโดยใช้ความสามารถด้านกีฬาด้านนั้นๆ เพื่อแข่งขันกันภายในกฏ กติกา ระเบียบและมารยาทที่กำหนดไว้เพื่อเป็นการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแน่นอนของทุกฝ่ายที่ร่วมการหรือการแข่งขัน
            สุขภาพ (Health) เป็นคำที่เกิดจากคำ 2 คำ คือ
            สุข หรือ สุขขะ ซึ่งหมายถึง ความสบายกาย สบายใจ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2542)
            สภาพ หรือ สภาวะ ซึ่งหมายถึง ความเป็นเองตามธรรมชาติหรือธรรมชาติ เช่น สภาพความเป็นอยู่ สภาพดินฟ้าอากาศ ลักษณะในตนเอง ภาวะ ธรรมชาติ
            เมื่อนำคำทั้ง 2 มาสนธิกันจะได้ความหมายว่า สภาพหรือสภาวะซึ่งเป็นความสบายทางกายและทางใจ ดังนั้นผู้ที่มีสุขภาพดี ก็จะหมายถึง ผู้ที่มีร่างกายและจิตใจที่ดี
            พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.. 2550 กำหนดว่าสุขภาพ หมายถึง ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิตใจ ทางปัญญาและทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล
            องค์การอนามัยโลก (WHO : world health organization) ให้คำจำกัดความของสุขภาพไว้ในรัฐธรรมนูญ เมื่อปี ค.. 1948 ว่า หมายถึง สภาวะแห่งความสมบูรณ์ของร่างกาย จิตใจ และการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข โดยไม่ได้หมายความเฉพาะเพียงแต่การปราศจากโรคและทุพพลภาพเท่านั้น ต่อมาในปี พ.. 2541 องค์กรอนามัยโลกได้มีมติให้เพิ่มคำว่า สุขภาวะทางวิญญาณ ( spiritual well-being) เข้าไปในความจำกัดความของสุขภาพ ซึ่งเป็นความหมายหรือคำขำกัดความของสุขภาพสำหรับบุคคลทั่วไป
            เมื่อนำคำมาผสมกันแล้วจะได้ความหมายของคำว่า วิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อสุขภาพ หมายถึง เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าถึงผลของการมีส่วนร่วมในการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายในกิจกรรมต่างๆ โดยประยุกต์ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับเทคนิคเฉพาะทางเพื่อพัฒนาศักยภาพร่างกายของนักกีฬาให้สามารถเล่นกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอาศัยหลักวิชาทางด้านสรีรวิทยา จิตวิทยา วิทยาสังคมวิทยาอื่นๆ มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ทั้งทางสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพสังคม และสุขภาพจิตวิญญาณ เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยจากโรคภัยต่างๆ ที่เกิดจากการขาดการออกกำลังกายและเล่นกีฬา โดยใช้กิจกรรมการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มยิ่งขึ้น
 1. สุขภาพ แบ่งเป็น 4 ประการ ดังนี้

            1.1 สุขภาพกาย (Physical health) หมายถึง การมีร่างกายที่ดี ระบบการทำงานและอวัยวะต่างๆ ทำงานเป็นปกติ มีความแข็งแรง ปราศจากโรคภัยต่างๆ ร่างกายสามารถทำงานประสานและสัมพันธ์กันได้ในทุกระบบ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุขภาพทางกายนั้นมีดัชนีชี้วัดที่สำคัญ เรียกว่า สมรรถภาพทางกายหรือสมรรถนะทางกาย (Physical fitness/Physical performance) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญของการเรียนกิจกรรมเพื่อสุขภาพและจะได้กล่าวถึงบทต่อๆไป
ภาพที่ 1.11 เด็กสุขภาพดี
แหล่งที่มารูปภาพ https://www.hindustantimes.com/health-and-fitness/agressive-boys-tend-to-develop-greater-physical-strength-study/story-ARgpBtTPxPg4nmiydfbCQI.html


             1.2 สุขภาพจิต (Mental health) หมายถึง สภาพของจิตใจที่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ สามารถกำหนดหรือขจัดความขัดแย้งภายในใจ ทำให้มีจิตใจแจ่มใส ปรับตัวกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมต่างๆได้อย่างมีความสุข
ภาพที่ 1.12 สุขภาพจิตดี
แหล่งที่มารูปภาพ http://www.goosiam.com/health/html/0004209.html
            ร่างกายและจิตใจนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า จิตเป็นนายกายเป็นบ่าวหรือดังคำกล่าวของ John Lock ที่ว่า “A sound mind is in a sound body” คือ จิตใจที่แจ่มใสย่อมอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์


             1.3 สุขภาพสังคม (Social health) หมายถึง เมื่อบุคคลมีสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตที่ดีแล้ว จะส่งผลให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างมีความสุข ไม่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเป็นผลต่อเนื่องให้สังคมที่มีผู้ที่มีสุขภาพทางกายและทางจิตที่ดี เป็นสังคมที่เป็นสุข

ภาพที่ 1.13 กลุ่มเพื่อนนั่งคุยกัน
แหล่งที่มารูปภาพ http://lawgupshup.com/2018/02/4th-national-debate-competition-by-sardar-patel-subharti-institute-of-law-unmukt-bharat-april-14-meerut-register-by-march-15-2/

            1.4 สุขภาพจิตวิญญาณ (ปัญญา/ศีลธรรม (Spiritual health) หมายถึง ปัญญาคือการคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีความเป็นเหตุเป็นผล มีความสำนึกรู้สึกในผิด ชอบ ชั่ว ดี ซึ่งจะก่อให้เกิดสุขภาพที่ดีทั้งทางกาย จิตใจ และสังคม
ภาพที่ 1.14 เด็กนั่งสมาธิ
แหล่งที่มารูปภาพ http://www.kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=6493

2. สุขภาพและการเคลื่อนไหวของร่างกาย (Health and body movement)
รายงานขององค์การอนามัยโลกสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันผู้ที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs (Non communicable diseases) หลายชนิด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไขมันในเส้นเลือด โรคมะเร็ง โรคปวดเมื่อยในกล้ามเนื้อ มีปัจจัยสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารและกิจกรรมทางกาย (สินธุ์ สโรบล,2555) อันเนื่องมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์และการขาดกิจกรรมทางกายเป็นหลัก
            กิจกรรมเป็นการเคลื่อนไหวของร่างกาย (physical Activity) ในทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นได้จากการที่ร่างกายมีการหดตัวของกล้ามเนื้อโครงร่าง (muscular contraction) และดึงกระดูกที่กล้ามเนื้อเหล่านั้นยึดเกาะให้มีการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นมีการใช้พลังงานเพิ่มมากกว่าในขณะพัก ( ปิยะนุช รักพาณิชย์, ภัทราวุธ อินทรกำแหง และ วิศาล คันธารัตนกุล, 2544)
            ร่างกายมนุษย์เกิดประกอบขึ้นจากเซลล์หลายๆ เซลล์ซึ่งรวมเป็นอวัยวะและหลายๆอวัยวะรวมเป็ฯระบบทางสรีรวิทยา การทำงานของร่างกายก็เช่นเดียวกัน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การทำงานระดับย่อย ซึ่งก็คือการทำงานของเซลล์ต่างๆและการทำงานระดับรวม ก็คือ เซลล์หลายๆเซลล์รวมเป็นเนื้อเยื่อ (tissue) เนื้อเยื้อประกอบเป็นอวัยวะ (organs) อวัยวัหลายอวัยวะรวมกันแบ่งเป็นระบบ (system) เพื่อรวมกันทำงานในการดำรงชีวิตให้เป็นปกติ การเคลื่อนไหวของร่างกาย (body movement) ก็เช่นเดียวกัน จำเป็นจะต้องมีการทำงานประสานกันของระบบและอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย
            ดังนั้นการเคลื่อนไหวของร่างกายประสานกันของระบบและอวัยวะต่างๆภายในร่างกายหรือกล้ามเนื้อลายและการเคลื่อนไหวนี้สามารถสะท้อนไปสู่สภาวะสุขภาพได้การจะพิจารณาว่ากิจกรรมใดๆที่เราประกอบขึ้นนั้นเป็นกิจกรรมทางกายหรือไม่จะต้องมีองค์ประกอยอยู่ 3 อย่าง (Caspersen ,Powell & Christenson, 1985) คือ
            -การเคลื่อนไหวที่เกิดจากการหดตัวของกล้าเนื้อโครงร่างหรือกล้ามเนื้อลาย
            -มีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น
            -ความสัมพันธ์ในทางบวกกับสมรรถภาพทางกาย
            กิจกรรมทางกายโดยทั่วไปจะหมายถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น การยืน การเดิน การยกของ ซึ่งเป็นกิจกรรมพื้นฐานโดยทั่วไป (Baseline activities) การประกอบกิจกรรมพื้นฐานในการดำรงชีวิตเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีกิจกรรมทางกายอย่างอื่นเพิ่มขึ้น ไม่เพียงพอที่จะส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้นและจะกลายเป็นผู้ที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว (inactive) (U.S. Department of Health and Human Service,2008) พบว่าผู้ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายอยู่สม่ำเสมอหรือมีการประกอบกิจกรรมทางกายมากขึ้น จะทำให้สุขภาพร่างกายดีตามไปด้วย
3.ลักษณะมนุษย์ (Body Type)
ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของการประกอบกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน หรือเพื่อเสริมสร้างสุขภาพหรือลักษณะรูปร่างของคนเรา แม้ว่าจะเกิดมาในเผ่าพันธุ์เดียวกันแต่มนุษย์ทุกคนมีลักษณะทางกายที่แตกต่างกันมาบ้างน้อยบ้างไปตามพันธุกรรมของบรรพบุรุษ ทำให้แต่ละคนมีความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อประกอบกิจกรรมต่างๆที่ไม่เหมือนกัน วิลเลียม เซลดอน (William Sheldon) นักทฤษฎีบุคลิกภาพทำการศึกษารูปร่างของมนุษย์และแบ่งลักษณะร่างกายพื้นฐานของคนเราออกเป็น 3 แบบ คือ
3.1 Ectomorph คือ มีลักษณะร่างกายที่มีกล้าเนื้อและกระดูกเล็ก ปอม แขนยาว ขายาว หนเอกแบนราบ ลำตัวบาง ไขมันในร่างกายน้อย น้ำหนักตัวน้อย รับประทานน้อย มีลักษณะรูปร่างเป็นตัว (I)
3.2 Mesomorph คือ มีลักษณะรูปร่างสมส่วน มีมัดกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้อแข็งแรง กระดูกใหญ่ รูปร่างดี ไหล่กว้างอกใหญ่เอวเล็ก เป็นลักษณะตัว (V) ซึ้งเป็นลักษณะของกีฬา บุคคลประเภทนี้เป็นบุคคลที่คล่องแคล่วว่องไว ชอบการเคลื่อนไหวและออกกำลังกาย
3.3 Endomorph คือ จะมีลักษณะอ้วนหรืออ้วนง่าย รูปร่างใหญ่แต่กระดูกเล็ก กล้ามเนื้อนิ่ม มีกล้ามเนื้อย้อยมากว่าไขมัน คอสั้น คางสองชั้น สะโพกกว้าง การพัฒนาของกล้ามเนื้อมีน้อย และมีกระดูกเล็ก รูปร่างจะเป็นตัวป้อมกลมหรือสี่เหลี่ยม ลำตัวรูปตัว (U) หรือตัว (O) บุคคลประเภทนี้จะรับประทานอาหารมากชอบความสบายไม่ชอบการเคลื่อนไหวร่างกาย
ภาพที่ 1.15 แสดงลักษณะรูปร่างตามทฤษฎีของ W.H Sheldon
แหล่งที่มารูปภาพ https://keithcorefitness.co.uk/2016/01/14/dieting-tips-for-body-type/

4. การเคลื่อนไหวเบื้องต้นของร่างกาย
เราสามารถแบ่งการเคลื่อนไหวต่างๆของร่างกายได้โดยอาศัยตำแหน่งทางกายวิภาคศาสตร์ (Anatomical position) ซึ่งเป็นตำแหน่งในท่ายืนตรงแขนเหยียดตรงแนบชิดลำตัว ฝ่ามือทั้งสองข้างหงายมาด้านหน้า ตามองตรง ศีรษะตรง เท้าทั้งสองข้างติดกันไปทางด้านหน้า การเคลื่อนของร่างกายที่เคลื่อนไหวออกจากท่าดีงกล่าวจะสามารถแบ่งเป็นรูปแบบใหญ่ๆ คือ
                        -การงอ (Flexion)
                        -การเหยียด (Extension)
                        -การหุบ (Adduction)
                        -การกาง (Abduction)
                        -การยกขึ้น (Elevation)
                        -การดึงลง (Depression)
                        -การหมุน (Rotation)
                        -การควง (Circumduction)
ภาพที่ 1.16 แสดงท่าทางทางกายวิภาคศาสตร์ (Anatomical position)
             4.1 การยืน เป็นการเคลื่อนไหวเบื้องต้นพื้นฐานที่สุดของร่างกาย บรรพบุรุษของมนุษย์เริ่มใช้ 2 ขาหลังในการยืนและการพัฒนา 2 ขาหน้ามาเป็นมือและแขน การยืนที่ดีเท้า 2 ข้างจะรับน้ำหนักตัวของเราทั้งหมดข้างละเท่าๆกัน โดยผู้ที่ยืนที่ดีควรจะยืนลำตัวตรง โดยน้ำหนักตัวจะถูกส่งมาที่เข่า ข้อเท้า และเท้า
ภาพที่ 1.17 การแสดงการยืนที่ถูกต้อง
4.2 การเดิน การเดินสองเท้า เป็นการเคลื่อนที่สำคัญที่ทำให้มนุษย์แจกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ ในขณะที่เรายืนนั้นเท้าทั้งสองข้างจะรับน้ำหนักตัวของเราข้างละเท่าๆกันอย่างสมดุล แต่การเดินไม่เป็นเช่นนั้น เพราะระหว่างการเดินจะมีเท้าข้างใดข้างหนึ่งที่สัมผัสกับพื้นในขณะที่อีกข้างหนึ่งลอยอยู่ในอากาศ และในบางจังหวะที่เท้าทั้งสองข้างสัมผัสพื้นพร้อมกัน ซึ่งความเร็วของการเดินจะทำให้ช่วงจังหวะที่เท้าทั้งสองข้างสัมผัสพื้นสั้นและยาวไม่เท่ากัน
หากเดินช้าๆไม่เร่งรีบช่วงที่เท้าสัมผัสพื้นพร้อมกันจะยาว แต่ถ้าเดินเร็วช่วงเวลานี้จะสั้นลง ในการเดินท้าจะรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าการยืนประมาน 1-2 เท่า ถ้าเปรียบร่างกายเหมือนลูกตุ้ม การเดินจะทำให้ร่างกายเหมือนลูกตุ้มกลับหัวคือมีจุดหมุนอยู่ที่เท้า ในวิชากลศาสตร์พบว่า ขณะที่เรายกเท้าขึ้นจากพื้นจะเกิดพลังงานศักย์ขึ้น ส่วนพลังงานที่ทำให้เราเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเกิดจากพลังงานจลน์ในขณะที่เราวางเท้าลงที่พื้นด้านหน้าและจะทำสลับกันไปมาระหว่างขาทั้ง 2 ข้าง ส่วนมือจะแกว่งไปมาสลับกับการก้าวขา ซึ่งเป็นลักษณะธรรมชาติและทำให้กรรเดินสะดวกขึ้นการเดินไปข้างหน้าน้ำหนักตัวจะลงไปที่ส้นเท้าก่อน
            
ภาพที่ 1.18 แสดงการเดินในแต่ละจังหวะการเดินจะมีจังหวะที่ขาใดขาหนึ่งสัมผัสพื้นตลอดเวลา
แหล่งที่มารูปภาพ https://www.honestdocs.co/walking-correct-stance

ภาพที่ 1.19 การแสดงวิ่งซึ่งมีจังหวะใดจังหวะหนึ่งที่เท้าทั้งสองลอยอยู่ในอากาศพร้อมกัน
แหล่งที่มารูปภาพ https://sites.google.com/site/prawitikritha/thathang-kar-wing
            4.3 การวิ่ง อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าการเดินจะมีช่วงที่เท้าข้างใดข้างหนึ่งที่สัมผัสอยู่กับพื้นในขณะที่อีกข้างหนึ่งลอยอยู่ในอากาศในบางจังหวะที่เท้าทั้ง 2 ข้างอาจสัมผัสพื้นพร้อมกัน ความเร็วของการเดินทำให้ทำให้ช่วงจังหวะที่เท้าข้างที่สัมผัสพื้นพร้อมกันสั้นและยาวไม่เท่ากัน หากเดินช้าๆไม่เร่งรีบช่วงที่เท้าสัมผัสพื้นพร้อมกันจะยาว แต่ถ้าเดินเร็วช่วงเวลานี้จะสั้นขึ้น
ถ้าเดินเร็วขึ้นจนไม่มีช่วงที่เท้าข้างใดข้างหนึ่งสัมผัสพื้น แต่กลับกลายเป็นว่ามีชาวงเวลาบางช่วงที่เท้าทั้ง 2 ข้างลอยอยู่ในอากาศพร้อมกันเราเรียกการเคลื่อนไหวนั้นว่าการวิ่ง การวิ่งขะทำให้ขาข้างใดข้างหนึ่งรับน้ำหนักตัว 3-4 เท่าโดยร่างกายจะใช้เอ็นที่ขาทำงานเหมือนสปริงส่งลำตัวเรา
4.4 การิดพลังในการกระโดด เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายมีการหดตัวของหดกล้ามเนื้อขา ก่อให้เกิดแรงปฏิกิริยาสะท้อนกลับมาที่ขา รวมกับแรงที่หดตัวของกล้ามเนื้อทำให้เกิดพลังในการเคลื่อนที่ไปในอากาศอย่างทันทีทันใดของร่างกาย (Chu.1992)
            ทุกครั้งที่ทีการกระโดดจะต้องมีการลงสู้พื้นซึ่งการจะลงสู่พื้นเพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บของร่างกายควรใช้ปลายเท้าลงก่อนจะสัมผัสจนเต็มเท้าและใช้การย่อเข่าเพื่อลดแรงกระแทก
ภาพที่ 1.20 การแสดงการกระโดด
แหล่งที่มารูปภาพ http://www.goosiam.com/
           5. ความสัมพันธ์ของกิจกรรมและสุขภาพ
อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า สุขภาพนั้นแบ่งออกได้เป็นสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตสำหรับสุขภาพทางกายปัจจัยที่แสดงออกถึงการมีสุขภาพที่ดีคือสมรรถภาพทางกาย (มณินทร รักษ์บำรุง,2556) สมรรถภาพทางกาย คือ การเคลื่อนไหวของร่างกายในการประกอบกิจกรรมต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น หากร่างกายมีการประกอบกิจกรรมต่างๆได้เหมาะสมจะทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรงตามไปด้วย
รายงานจากองค์การอนามัยพบว่าการขาดกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมจะเป็นสาเหตุของโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs (non-communicable diseases) ต่างๆ เช่น โรคหัวใจ และหลอดเลือด ร้อยละ 22-23 โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ร้อยละ 16-17 โรคเบาหวาน ร้อยละ 15 โรคหลอดเลือด ร้อยละ 20 และโรคที่เกี่ยวกับสมอง ร้อยละ 12-13 (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,2553)
ด้วยอิทธิพลทางความคิดHippocratesทำให้ Aelius Galenus หรือClaudius Galenus หรือที่ร็จักกันในนาม Galen แห่ง Pergamon นักปราชญ์ชาวกรีกรุ่นต่อมาได้คิดค้นทฤษฎีทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับร่างกายโดยหลักใหญ่ของทฤษฎีนี้กล่าวไว้ว่าสุขภาพของมนุษย์ขึ้นอยู่กับสิ่งสำคัญ 6 สิ่ง(Berryman,2010) คือ
                        -อากาศ
                        -อาหารและเครื่องดื่ม
                        -การนอนและการเดิน
                        -การเคลื่อนไหว (ออกกำลังกาย) การพักผ่อน

                        -การขับถ่าย
                        -ความพึงพอใจ

ภาพที่ 1.21 อาหาร
แหล่งที่มารูปภาพ https://www.honestdocs.co/5-food-group-and-its-benefit

            สำหรับในกรีซโบราณมีการฝึกสมรรถภาพทางกายเพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงสุขภาพดี รูปร่างสมส่วน (Grant,1991) มีคำกล่าวไว้ว่าชาวกรีซออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและเล่นดนตรีเพื่อจิตวิญญาณ (Exercise for the body and music for the soul) (Wuest & Bucher 1995) ชาวกรีซานิยมการฝึกเพาะกาย การฝึกยิมนาสติกและกรีซยังเป็นต้นกำเนิด ของกีฬาโอลิมปิกในยุคโบราณส่วนชาวโรมันนั้นเนื่องจากได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมหลายๆอย่างมาจากกรีซทำให้ชาวโรมันนิยมฝึกสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพและความสวยความงามของร่างกาย นอกจากนั้นโรมันยังฝึกสมรรถภาพทางกายผู้ชายเพื่อความแข็งแรงในการเป็นทหาร เพราะชายชาวโรมันทุกคนที่มีอายุ 17-60 ปี จำเป็นที่จะต้องเป็นทหารเมื่อถูกหมายเรียกเพื่ออาณาจักร สำหรับการฝึกสมรรถภาพทางกายของโรมันจะมีตั้งแต่การฝึกวิ่ง การฝึกเดินสวนสนาม การฝึกขว้างจักร การฝึกพแหลน เป็นต้น (Grant,1964)
ภาพที่ 1.22 นักเพาะกาย
แหล่งที่มารูปภาพ https://www.sanook.com/women/55981/gallery/366493/

ภาพที่ 1.23 นักรบ
แหล่งที่มารูปภาพ  http://www.komkid.com/

นอกจากนี้ชาวกรีซยังสร้างวิหารแห่งสุขภาพและมีพระประจำอยู่พระในวิหารเป็นผู้คอยรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆและในวิหารจะมีห้องใช้สำหรับออกกำลังกายอยู่ด้วย มนุษย์รู้จักการนำกิจกรรมการออกกำลังกายเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของตนและสังคมมีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลทั้งในการดำเนินชีวิตส่วนตัวหรือกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกันเป็นสังคมเพื่อความมุ่งหมายต่างๆตามความแตกต่างของวัฒนธรรม

ชาวกรีซมีตำนานวีรษุรุษชื่อ ไมโล (Milo) ซึ่งเชื่อกันว่ามีชีวิตอยู่ในช่วง 516-532 ปีก่อนคริสตกาล เขาเป็นคนแรกที่ใช้วิธีการฝึกออกกำลังกายอย่างเป็นระบบวิธีการฝึกออกกำลังกายของไมโลรู้จักกันตมทั่วไปตามหลักการฝึกออกกำลังกายแบบสมันใหม่ว่า การฝึกกล้ามเนื้อโดยใช้แรงต้าน (weight/resistance training) ไมโลจะแบกลูกวัวตั้งแต่เกิดใหม่ทุกวันจนอายุได้ 4 ปี หลักการที่ว่านี้เป็นการเพิ่มแรงต้านทางหรือน้ำหนักที่ยกขึ้นเพราะน้ำหนักของวัวที่เพิ่มขึ้นทุกวันจึงเพิ่มแรงต้านทานให้กับกล้ามเนื้อแบบค่อยเป็นค่อยไป การฝึกดังกล่าวส่งผลให้ไมโลเป็นแชมป์โอลิมปิกจากการแข่งขันมวยปล้ำในยุคโบราณติดต่อกันถึง 5 ครั้ง
ภาพที่ 1.24 ออกกำลังกายโดยใช้อุปกรณ์เสริม
แหล่งที่มารูปภาพ https://www.getsport.ru/products/synonym/22484
            จากที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่าการฝึกออกกำลังกายคือศาสตร์อย่างหนึ่งที่จำเป็นอย่างหนึ่งในสังคมกรีซโบราณ ชายชาวกรีซนิยมออกกำลังกายให้รูปร่างสวยงามสมส่วนและด้วยความนิยมในการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของชาวกรีซนี่เองจึงเป็นต้นกำเนิดของกีฬาโอลิมปิกในยุคโบราณ


ความมุ่งหมายของวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา
ภาพที่ 1.25 กีฬาวอลเลย์บอลชายหาด
แหล่งที่มารูปภาพ lingnoy12.eu5.org/?p=217

            วิทยาศาสตร์การกีฬามีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาและส่งเสริมเพื่อสมรรถภาพโดยใช้กิจกรรมทางด้านพลศึกษาเป็นสื่อ และมุ่งหวังให้ผู้ศึกษาเกิดในสิ่งต่อไปนี้
 1. เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะในกิจกรรมหรือการกีฬาในประเภทนั้นๆ ได้ถูกต้อง (Knowledge, Understanding, and Skill of Sports)
           
2. เพื่อให้เกิดเจตนคติ (Attitudes) ที่ดีต่อการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกาย
            3. เพื่อให้เกิดการฝึกหัด (Practices) อย่างถูกต้องตามหลักและวิธีการจนเป็นนิสัย (Habits)
            4. เพื่อให้เห็นความสำคัญของสุขภาพ  (Health) และสมรรถภาพทางกาย (Physical Fitness) ที่มีผลต่อการดำรงชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ

            5. เพื่อฝึกและพัฒนาในด้านการเคารพในกฎ กติกา และปลูกฝังการมีวินัย การมีน้ำใจนักกีฬา
           
6. เพื่อให้เกิดความรู้และเข้าใจ ในเรื่องกายภาคศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและมีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวมาก
           
7. เพื่อให้รู้จักเลือกกิจกรรมกีฬาสำหรับตนเอง และสามารถแนะนำผู้อื่นได้


            8. สามารถกำหนดโปรแกรมการสร้างสมรรถภาพที่เหมาะสมสำหรับตนเองและผู้อื่นตามวัยและเพศได้
           
9. ให้รู้จักป้องกัน หลีกเลี่ยงอันตราย อันอาจจะเกิดขึ้นได้จากการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกาย
            10. ให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์กับการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย 

ภาพที่ 1.26 การวิ่ง
แหล่งที่มารูปภาพ www.cheerkeela.com/ความสำคัญของ-วิทยาศาสตร์การกีฬา/

ขอบข่ายของวิทยาศาสตร์การกีฬา
1. ชีวกลศาสตร์การกีฬา (Sport Biomechanics) เป็นการศึกษาการเคลื่อนไหวของสิ่งที่มีชีวิต (มนุษย์) เพื่อเข้ามาประยุกต์ใช้ในการฝึกกีฬา เพื่อปรับปรุง เพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง
            - เกี่ยวข้องกับเรื่องของแรงอันเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเคลื่อนไหว
            - ผลของแรงที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว
            - ตัวแปรที่สำคัญ ได้แก่ ตำแหน่ง ระยะทาง ความเร็วและความเร่ง ทั้งเชิงเส้นและเชิงมุม
            - เพื่อนำไปพัฒนา ปรับปรุง การเคลื่อนไหวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
บทบาทของชีวกลศาสตร์การกีฬา
            1. ช่วยในการตรวจสอบแรงและตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว เช่น มุม ระยะทาง ความเร็ว ความเร่ง โมเมนตัม
            2. ช่วยในการปรับแต่งการเคลื่อนไหวที่ละเอียดอ่อน (micro tuning) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
            3. ช่วยในการตรวจสอบข้อบกพร่อง และข้อจำกัดของการเคลื่อนไหวในระดับ micro ซึ่งสายตามนุษย์ไม่สามารถตรวจสอบได้และช่วยในการแก้ไข 
ภาพที่ 1.27 บทบาทของชีวกลศาสตร์
แหล่งที่มารูปภาพhttp://www.admissionpremium.com/adplanning/work?id=201508030943313kUh7fX

            2. สรีรวิทยาการออกกำลังกาย/การกีฬา (Exercise Physiology) เป็นการศึกษาของการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายที่มีผลต่อการออกกำลังกาย และมีผลอย่างไรเมื่อมีการออกกำลังกาย
            - เกี่ยวข้องกับกระบวนการ metabolism
            - พลังงานและแหล่งพลังงานที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆทั้ง Aerobic Exercise และ Anaerobic Exercise

บทบาทของสรีรวิทยาการออกกำลังกาย/การกีฬา
1.เป็นการศึกษาถึงระบบการทำงานต่างๆ ของระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบหายใจ และระบบอื่น เช่น ระบบย่อยอาหาร
2.ช่วยในการพัฒนาความสามารถของการทำงานของระบบต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ เช่น ความอดทนต่อการมีกรดแลคติกสะสมในกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อสามารถใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 
ภาพที่ 1.28 ร่างกาย
แหล่งที่มารูปภาพ https://sites.google.com/a/bcnnon.ac.th/anatomy-song/
            3. จิตวิทยาการกีฬา (Sport Psychology) เป็นการศึกษาถึงสภาวะของจิตใจภายใต้สถานการณ์ต่างๆ การนำเอาหลักการทางจิตวิทยามาปรับประยุกต์ใช้กับการกีฬาเป็นการหาวิธีการ หรือกุศโลบายในการสร้างแรงจูงใจ และลดความวิตกกังวล อาการตื่นเต้น หรือความเฉื่อยชา มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้นักกีฬาสามารถควบคุมร่างกายและจิตใจของตนเองได้
            บทบาทสำคัญ : ช่วยในการสร้างแรงขับในทางบวกและลบความวิตกกังวลของนักกีฬา
ภาพที่ 1.29 จิตวิทยาการกีฬา
แหล่งที่มารูปภาพ https://sites.google.com/site/sportpsychology2539/citwithya-thangkar-kila/khwam-sakhay-khxng-citwithya-kar-kila
           
            4. เวชศาสตร์การกีฬา (Sport Medicine) เป็นการศึกษาสาเหตุของการบาดเจ็บ วิธีการป้องกันการบาดเจ็บ การวินิจฉัยและรักษา รวมทั้งการบำบัดฟื้นฟูรักษาร่างกาย          
            บทบาทสำคัญ
            - ช่วยในการป้องกันและรักษาการบาดเจ็บ
            - การศึกษาสาขานี้ จำเป็นต้องมีความเข้าใจในระบบการทำงานของร่างกายเป็นอย่างดี โดยเฉพาะระบบโครงสร้างของกระดูก ระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ ระบบการไหลเวียนของโลหิต ตลอดจนเรื่องของระบบการหายใจ และยังต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยจากการเล่นกีฬา ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานักกีฬาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
            - อาการบาดเจ็บจากการกีฬามักมีสาเหตุจาก 2 ประการคือ 1.การใช้งานของอวัยวะส่วนนั้นมากเกินไป 2.จากอุบัติเหตุของการเล่นกีฬา
            - การป้องกันการบาดเจ็บ นอกจากการป้องกันจากภายนอกได้คือจากอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการกีฬา ยังสามารถป้องกันด้วยสมรรถภาพทางกาย ป้องกันด้วยทักษะ ป้องกันด้วยโภชนาการ ป้องกันด้วยสภาพแวดล้อม ป้องกันด้วยการอบอุ่นร่างกาย และป้องกันด้วยวิธีการ 
ภาพที่ 1.30 อุปกรณ์ที่ใช้ในการกีฬา
แหล่งที่มารูปภาพ https://www.samitivejhospitals.com/th/กระดูกข้อการแพทย์กีฬา/

        5. โภชนาการการกีฬา (Sport Nutrition) เป็นการศึกษาในเรื่องโภชนาการ สารอาหาร และแหล่งพลังงานที่สำคัญที่ใช้ในการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา เพื่อให้ร่างกายมีความสมดุลระหว่างพลังงานที่ได้รับจากสารอาหารที่รับประทานเข้าไป กับพลังงานที่ใช้ไปในการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา
- เกี่ยวกับสารอาหาร
                        - เกี่ยวกับแหล่งพลังงาน
                        - อาหารสำหรับบุคคลทั่วไปและบุคคลพิเศษ
บทบาทสำคัญ
            ช่วยให้รู้จักเลือกรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการและเหมาะสมกับกิจกรรมกีฬานั้นๆหรือซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอสำหรับนักกีฬาทั้งในช่วงการฝึก การแข่งขัน และหลังการแข่งขัน เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการแข่งขัน 
ภาพที่ 1.31 โภชนาการสำหรับนักกีฬา
แหล่งที่มารูปภาพ healthfoodbymin.blogspot.com/2015/09/blog-post_72.html

6.เทคโนโลยีทางการกีฬา (Sport Technology) เป็นสาขาการกีฬาที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาความสามารถของนักกีฬา ให้ไปสู่ความสามารถสูงสุด โดยอาศัยความรู้ หลักทฤษฎี รวมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ช่วยการวิเคราะห์กีฬาประเภทต่างๆ เช่น ฟิสิกส์ เคมี แคลคูลัส วิทยาศาสตร์การถ่ายภาพ สรีรวิทยา กายวิภาค ความรู้ทางเทคโนโลยีใหม่ๆ
             ในการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสัดส่วนของร่างกาย ตัวแปรในการเคลื่อนไหว หรือแรงที่เป็นสาเหตุของการเคลื่อนไหว ทั้งแรงดึงดูดของโลก แรงปฏิกิริยา แรงของกล้ามเนื้อ โดยอาศัยเครื่องมือต่างๆ เช่น การถ่ายภาพ การถ่ายวีดีโอ โทรทัศน์ การทำวิเคราะห์การเคลื่อนไหวในเชิงกีฬา ซึ่งจะทำให้โค้ชและนักกีฬาสามารถนำเอาข้อมูลที่ได้มาปรับปรุง แก้ไข พัฒนาความสามารถของนักกีฬาให้ดีขึ้นได้
ภาพที่ 1.32 กติกากีฬา
 แหล่งที่มารูปภาพ globe.asahi.com/feature/side/2016042800015.html

            7. การจัดการกีฬา (Sport Management) คือ การนำศาสตร์และศิลป์ ทางด้านการบริหารและการจัดการมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการในองค์กรกีฬา การจัดการแข่งขันกีฬา รวมทั้งการทำธุรกิจด้านกีฬา ฯลฯ
            โดยเรียนรู้ถึงวิธีการการบริหารและการจัดการกีฬา การเรียนรู้ในที่นี้คือการเรียนรู้ในเรื่องการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กรกีฬา (องค์กรกีฬาต่างๆ เช่น การแข่งขันโอลิมปิก เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ กีฬาแห่งชาติ กีฬาสโมสรอาชีพ ฯลฯ) โดยต้องรู้จักและใช้
            1. ใช้ประสบการณ์
            2. ใช้ความคิดสร้างสรรค์
            3. ใช้จินตนาการในการคาดการณ์ในเหตุการณ์
            4. ใช้ความคิดอย่างมีเหตุผล
            5. มีการใช้ลำดับขั้นตอนในการตัดสินใจ 
ภาพที่ 1.33 น้ำใจนักกีฬา
แหล่งที่มารูปภาพ https://ltclanguagesolutions.com/orlando/

ประโยชน์ของวิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อสุขภาพ
            1. การออกกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน การศึกษาวิทยาศาสตร์การกีฬาทำให้เข้าใจและแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการออกกำลังกาย และโทษของการขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายและเล่นกีฬาอาจจะทำให้เกิดทั้งคุณและโทษได้ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การกีฬาจะช่วยจัดคนกับกีฬา ให้เหมาะสมซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดประโยชน์โดยไม่มีโทษเจือปน
            2. การปฏิบัติอย่างถูกต้อง เป็นขั้นตอน จะช่วยให้นักกีฬาที่บาดเจ็บกลับมาเล่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
            3. วิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อสุขภาพช่วยส่งเสริมให้บุคคลต่างๆ เช่น เด็ก วัยรุ่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย รู้จักการออกกำลังกายอย่างถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้การออกกำลังกายเป็นไปอย่างมีขั้นตอนและถูกต้อง การแข่งขันกีฬาในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ออกกำลังกายเพื่อที่จะก่อให้เกิดความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังหมายถึงชื่อเสียงของหมู่คณะหรือแม้แต่ประเทศชาติ
            4. ช่วยเป็นทางลัดให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขวิธีการฝึกหรือการแข่งขันให้ประสบความสำเร็จได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเข้ากับการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย 
            5. วิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อสุขภาพก่อให้เกิดการเรียนรู้ถึงจิตใจของมนุษย์ภายใต้สภาวะการเล่นกีฬา หรือการแข่งขัน ผู้ที่ชนะเลิศคือ บุคคลที่สามารถควบคุมจิตใจของตนเองได้เป็นอย่างดี 
ภาพที่ 1.34 นักกีฬาประเภทต่างๆ
แหล่งที่มารูปภาพ https://sport.mthai.com/football-inter/252924.html

ภาพที่ 1.35 สุขภาพแข็งแรง
แหล่งที่มารูปภาพ https://www.thaibio.com/อาหารเสริม-สาหร่ายเกลียวทอง

ภาพที่ 1.36 ออกกำลังกายโดยใช้อุปกรณ์
แหล่งที่มารูปภาพ www.dpe.go.th/th/manager/5


สรุปท้ายบท
            ประวัติของวิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกายอยู่คู่กับมนุษย์มานานนับพันหมื่นปี      ตั้งแต่มนุษย์เริ่มรวมกันเป็นกลุ่มเป็นสังคมและสร้างอารยะธรรมในยุคแรกเริ่ม บรรพบุรุษของมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นในโลกเมื่อหลายล้านปีก่อน และวิวัฒนาการตัวเองเรื่อยมาจนมีลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงกับมนุษย์ในยุคปัจจุบันเมื่อไม่กี่แสนปีมานี้ ด้วยเหตุที่เป็นจุดสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร ชีวิตประจำวันของมนุษย์ในยุคโบราณจึงเกี่ยวข้องกับการล่าสัตว์เพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารในการดำรงชีวิตเป็นสำคัญ
            วิทยาศาสตร์ หมายถึง ความรู้ที่ได้จากการสังเกต และการค้นคว้าจากการประจักษ์ทางธรรมชาติ แล้วจัดเข้าเป็นระเบียบ หรือวิชาที่ค้นคว้าได้หลักฐานและเหตุผลมาจัดเข้าเป็นระเบียบ
            กีฬา หมายถึง กิจกรรมหรือการเล่นเพื่อความสนุกเพลิดเพลินหรือเพื่อความแข็งแรงของร่างกายหรือเพื่อผ่อนคลายความเคร่งเครียดทางจิตรวมไปถึงกิจกรรมปกติหรือทักษะที่อยู่ภายใต้กติกาซึ่งถูกกำหนดโดยความเห็นที่ตรงกันโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพักผ่อนการแข่งขันความเพลิดเพลินความสำเร็จการพัฒนาของทักษะหรือหลายสิ่งรวมกันกีฬาเป็นกิจกรรมที่ควบคู่กับการแข่งขันและระบบคะแนน
            สุขภาพ หมายถึง สภาพหรือสภาวะซึ่งเป็นความสบายทางกายและทางใจ ดังนั้นผู้ที่มีสุขภาพดี ก็จะหมายถึง ผู้ที่มีร่างกายและจิตใจที่ดี
            วิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อสุขภาพ หมายถึง เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความรู้ที่ได้จาก การศึกษาค้นคว้าถึงผลของการมีส่วนร่วมในการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายในกิจกรรมต่าง ๆ โดยประยุกต์ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับเทคนิคเฉพาะทางเพื่อพัฒนาศักยภาพร่างกายของนักกีฬาให้สามารถเล่นกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอาศัยหลักวิชาทางด้านสรีรวิทยา จิตวิทยา สังคมวิทยาหรืออื่น ๆ มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพสังคม และสุขภาพจิตวิญญาณ
            นักทฤษฎีบุคลิกภาพทำการศึกษารูปร่างของมนุษย์และแบ่งลักษณะร่างกาย พื้นฐานของคนเราออกเป็น 3 แบบ คือ Ectomorph คือ มีลักษณะร่างกายที่มีกล้ามเนื้อ และกระดูกเล็ก ผอม Mesomorph คือ มีลักษณะรูปร่างสมส่วน มีมัดกล้ามเนื้อและ กล้ามเนื้อแข็งแรง กระดูกใหญ่ รูปร่างดี Endomorph จะมีลักษณะอ้วนหรืออ้วนง่าย  รูปร่างใหญ่แต่มีกระดูกเล็ก กล้ามเนื้อนิ่ม มีกล้ามเนื้อน้อยกว่าไขมัน
            การเคลื่อนไหวเบื้องต้นของร่างกาย การงอ (Flexion) การเหยียด (Extension) การหุบ (Adduction) การกาง (Abduction) การยกขึ้น (Elevation) การดึงลง (Depression) การหมุน (Rotation) การควง (Circumduction)
            การยืน เป็นการเคลื่อนไหวเบื้องต้น พื้นฐานที่สุดของร่างกาย บรรพบุรุษของมนุษย์เริ่มใช้ 2 ขาหลังในการยืน และพัฒนา 2 ขาหน้ามาเป็นแขนและมือ การวิ่ง เดินเร็วขึ้นจนไม่มีช่วงที่เท้าข้างใดข้างหนึ่งสัมผัสพื้น แต่กลับกลายเป็นว่าเวลาเป็นช่วงเวลาบางช่วงที่เท้าทั้ง 2 ข้างลอยอยู่มนอากาศพร้อมกัน การกระโดด เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายมีการหดตัวของกล้ามเนื้อขา ก่อให้เกิดแรงกิริยาลงไปที่พื้นและเกิดแรงปฏิกิริยาสะท้อนกลับมาที่ขา รวมกับแรงที่หดตัวของกล้ามเนื้อทำให้เกิดพลังในการเคลื่อนที่ขึ้นไปในอากาศอย่างทันทีทันใดของร่างกาย
            ขอบข่ายของวิทยาศาสตร์การกีฬา ประกอบด้วย ชีวกลศาสตร์ การกีฬา สรีรวิทยาการออกกำลังกาย/การกีฬา จิตวิทยาการกีฬา เวชศาสตร์การกีฬา โภชณาการการกีฬา เทคโนโลยีทางการกีฬา การจัดการกีฬา
            ประโยชน์ของวิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อสุขภาพ การออกกำลงกายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน การศึกษาวิทยาศาสตร์การกีฬาทำให้เข้าใจและแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการออกกำลังกาย และโทษของการขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายและการเล่นกีฬาอาจจะให้ทั้งคุณและโทษได้ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การกีฬาจะช่วยจัดคนกับกีฬาให้เหมาะสมซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดประโยชน์โดยไม่มีโทษเจือปน  ช่วยเป็นทางลัดให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขวิธีการฝึกหรือการแข่งขันให้ประสบ ความสำเร็จได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเข้ากับการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย วิทยาศาสตร์การกีฬาก่อให้เกิดการเรียนรู้ถึงจิตใจของมนุษย์ภายใต้ สภาวะการเล่นกีฬาหรือการแข่งขัน ผู้ที่ชนะเลิศคือ บุคคลที่สามารถควบคุมจิตใจของตนเองได้เป็นอย่างดี


ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม