LESSON 8 การบาดเจ็บทางกีฬา

บทที่ 8 

การบาดเจ็บทางกีฬา



ภาพที่ 8.1 การบาดเจ็บทางกีฬา
แหล่งที่มารูปภาพ http://www.firstphysioclinic.com

        ในการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬานั้นอาจเกิดการบาดเจ็บขึ้นได้หลายแบบ อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในบางครั้งสามารถที่จะปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ หรือหากมีอาการรุนแรงการได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ดีก่อนส่งไปให้แพทย์ จะช่วยบรรเทาอาการบาดเจ็บให้ดีขึ้น

ความหมายของการปฐมพยาบาล

         การปฐมพยาบาล หมายถึง การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น แก่ผู้ที่ได้รับอุบัติภัยหรือเจ็บป่วยกระทันหันโดยใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่พอจะหาได้ในบริเวณนั้น เพื่อช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยและช่วยให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายน้อยลง   ก่อนที่จะนำส่งโรง พยาบาลเพื่อให้แพทย์ทำการรักษาพยาบาลต่อไป

สถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุทางกีฬา

          1.โรงฝึกพละศึกษาหรือยิมเนเซียมภายในโรงเรียนพละสาจะมีอุปกรณ์ต่างๆเช่น ห่วง ราวคู่ ราวเดี่ยว ม้าหู หึบกระโดด สนามบาสเกตบอล
          2.สนามกีฬาต่างๆอาจมีหลุมบ่อก้อนหินเศษวัสดุอื่นๆ
          3.สนามกรีฑาทั้งประเภทลู่และลาน อาจมีโคลนชื้นแฉะ วิธีการวิ่งไม่ถูกต้องรวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ฝึกหรือแข่งขันไม่เหมาะสม
          4. สระว่ายน้ำอาจไม่ได้ขนาด ลื่น น้ำลึกหรือตื้นเกินไป สกปรก เป็นต้น
          5. สนามเด็กเล่นจะมีอุปกรณ์หรือเครื่องเล่นต่างๆ เช่น กระดานหก กระดานลื่น ม้าหมุนชิงช้าบันได ไต่โหน เป็นต้น
          6. ห้องกีฬาในร่มและอื่นๆเช่น เทเบิลเทนนิสเป็นต้น

ลักษณะและชนิดของการบาดเจ็บทางกีฬา

          การบาดเจ็บจากการกีฬาที่พบบ่อยแบ่งเป็นชนิดได้ดังต่อไปนี้
           1. บาดเจ็บที่ผิวหนังและชั้นไขมันใต้ผิวหนัง โดยปกติผิวหนังจะประกอบขึ้นด้วย 3 ชั้นคือ ชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ และชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ผิวหนังทำหน้าที่ห่อหุ้มร่างกายเป็นด่านแรกที่ช่วยป้องกันอันตรายมิให้เกิดขึ้นกับอวัยวะภายใน ช่วยระบายความร้อน การบาดเจ็บที่เกิดกับผิวหนังมีดังนี้
                1.1. ผิวหนังถลอก (Abrasion) เป็นการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง ทำให้บางส่วนของผิวหนังหลุดออกไป บางครั้งอาจลึกถึงชั้นหนังแท้หรือชั้นไขมันใต้ผิวหนัง มีความเจ็บปวด เลือดจะไหลออกซึมๆ การหายเกิดขึ้นได้รวดเร็ว ถ้าไม่มีการติดเชื้อโรคแทรกซ้อน สาเหตุ มักจะมาจากการเสียดสี เช่น ลื่นล้มผิวหนังไถลไปบนพื้น การปฐมพยาบาลโดยถูสบู่และล้างออกด้วยน้ำสะอาด ทายาใส่แผลสด พยายามให้แผลแห้งไว้โดยไม่จำเป็นต้องปิดแผล หากไม่มีการติดเชื้อ แผลจะตกสะเก็ดและหลุดออกเองตามธรรมชาติ ภายใน 78 วัน
                1.2. ผิวหนังพอง (Blisters) เป็นการบาดเจ็บจากการแยกของชั้นผิวหนังด้วยกันเองออกไป โดยชั้นระหว่างที่ผิวหนังแยกออกจะมีน้ำเหลืองคั่งจากเซลล์ข้างเคียง สาเหตุเกิดจากการเสียดสีซ้ำๆกัน มักจะเกิดที่มือหรือเท้า การปฐมพยาบาลโดยทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่ เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ ใช้เข็มที่สะอาดปราศจากเชื้อโรคเจาะเอาน้ำออกโดยไม่จำเป็นต้องลอกหนังส่วนที่พองออก ทายารักษาแผลสดแล้วปิดพลาสเตอร์ หมั่นรักษาความสะอาดและให้บริเวณนั้นแห้งอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการเสียดสีซ้ำจนกว่าแผลจะหาย ซึ่งกินเวลาประมาณ 710 วัน
                 1.3. ฟกช้ำ (Contusion) เกิดจากมีแรงกระแทกโดยตรง ซึ่งโดยมากมาจากวัตถุแข็ง ไม่มีคม ทำให้เกิดเลือดคั่งอยู่และไม่สามารถซึมออกสู่เนื้อเยื่อข้างเคียงได้ อาจมีอาการเจ็บปวด บวมร่วมด้วย การปฐมพยาบาลโดยการประคบเย็นโดยทันทีพร้อมกับกดเบาๆตรงบริเวณฟกช้ำ ความเย็นจะทำให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้เลือดหยุดและบรรเทาความเจ็บปวดได้ อาการฟกช้ำนี้จะหายเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับปริมาณของเลือดที่ออกในชั้นใต้ผิวหนัง หลังจาก 2448 ชั่วโมงไปแล้ว จึงใช้ความร้อนประคบจะช่วยให้ก้อนเลือดสลายตัวได้เร็วขึ้น
                  1.4. ผิวหนังฉีกขาด (Laceration) เป็นการที่ผิวหนังถูกทำลายจนเห็นชั้นไขมันใต้ผิวหนัง บาดแผลคล้ายโดนของมีคมบาดหรือฉีกขาด อาจมีการฟกช้ำร่วมด้วยสาเหตุมักจะถูกของแข็งไม่มีคมกระแทกอย่างรุนแรง การปฐมพยาบาลโดยการห้ามเลือดก่อน แล้วทำความสะอาดบาดแผล ปิดบาดแผลด้วยผ้าสะอาดแล้วนำส่งแพทย์ทันที
                  1.5. แผลถูกแทง (Puncture Wound) ลักษณะของบาดแผลชนิดนี้ ปากแผลจะเล็กแต่ลึก อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะภายใน ทำให้มีการตกเลือด อาจมีการติดเชื้อร่วมด้วยโดยเฉพาะเชื้อบาดทะยัก

   

ภาพที่ 8.2 ลักษณะบาดเจ็บที่ผิวหนังและชั้นไขมันใต้ผิวหนัง
แหล่งที่มารูปภาพ https://home.kku.ac.th/ptorawan/pic/sport_inj/type1.htm


         2. การบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อและเอ็นกล้ามเนื้อ มีดังนี้
                   2.1. ตะคริว (Cramp) เกิดจากการเกร็งตัวชั่วคราวของกล้ามเนื้อ ขณะที่มีการหดตัวทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้นมีลักษะแข็งและเจ็บปวด เป็นอาการที่เกิดขึ้นนอกอำนาจจิตใจและเกิดขึ้นระยะเวลาไม่นานก็หายไปเองแต่อาจกลับเป็นซ้ำได้


ภาพที่ 8.3 นักกีฬาเป็นตะคริว
แหล่งที่มารูปภาพ https://home.kku.ac.th/ptorawan/pic/sport_inj/type2.htm
                   2.2. กล้ามเนื้อบวม (Compartmental Syndrome)  เกิดอาการเริ่มต้นฝึกซ้อมหนักเกินไปทำให้มีการคั่งของน้ำนอกเซลล์กล้ามเนื้อ ซึ่งยังไม่คุ้นเคยกับการกำจัดของเสียที่คั่งอยู่นอกเซลล์ทำให้น้ำที่คั่งเกิดแรงดันเบียดมัดกามที่อยู่ข้างเคียง จะเกิดอาการบวมตึงที่มัด   กล้ามเนื้อจะรู้สึกปวด
                   2.3. กล้ามเนื้อฉีก (Strain)  เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อถูกใช้งานมากเกินไปคือ มีการหดตัวและยืดตัวมาก การยืดตัวที่มากขึ้นจะนำไปสู่การฉีกขาด กล้ามเนื้อที่พบอาการฉีกขาดมากคือบริเวณกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า ด้านหลัง กล้ามเนื้อน่องและกล้ามเนื้อแขน          


          ความรุนแรงแบ่งออกเป็น 3 ระดับ
  • ระดับที่ 1  กล้ามเนื้อฉีกขาดเล็กน้อยไม่เกินร้อยละ 10 จะมีอาการบาดเจ็บเล็กน้อยอาจไม่ปรากฏอาการบวมและมักหายเป็นปกติภายใน 2-3 วัน
  • ระดับที่ 2  กล้ามเนื้อฉีกปานกลาง (ร้อยละ 10 50) ในภาวะนี้กล้ามเนื้อจะสามารถทำงานต่อไปได้บ้างจะเกิดการบวม เมื่อคำดูจะพบเป็นก้อนอยู่ในกล้ามเนื้อ ต้องใช้เวลาในการรักษาตัวอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์
  • ระดับที่ 3 กล้ามเนื้อฉีกขาดมากมากกว่าร้อยละ 50  - 100 กล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานต่อไปได้อีก มีอาการปวดบวมอย่างรุนแรง คลำดูจะพบรอยบุ๋มใต้ผิวหนังต้องรีบได้รับการรักษาจากแพทย์เพื่อผ่าตัดต่อส่วนที่ขาดใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 เดือนในการรักษาตัว


          สาเหตุของกล้ามเนื้อฉีก เกิดได้ 2 ปัจจัยคือ
                  1. เกิดจากภาวะภายในกล้ามเนื้อเอง เมื่อการทำงานมากขึ้นจนความดึงตัวต่อกล้ามเนื้อมากกว่าที่จะทนได้กล้ามเนื้อจะยึดตัวจนเกิดภาวะฉีกขาด สาเหตุอาจเนื่องมาจากการอบอุ่นร่างกายไม่เพียงพอ ฝึกซ้อมหรือเล่นกีฬามากจนเกินไปอาการเมื่อยล้าภายในความยืดหยุ่นไม่ดี การทำงานประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อหดและคลายตัวแต่ละคู่
                  2. สาเหตุจากแรงกระทำภายนอก
           การปฐมพยาบาลและบำบัดรักษากล้ามเนื้อฉีก
                  ใช้หลักของ " PRICE หรือ RICE " และเมื่อปฐมพยาบาลแล้วควรรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน
P (protection) คือ ป้องกันการบาดเจ็บไม่ให้มากขึ้นโดยการดามกล้ามเนื้อมัดนั้นด้วยวัสดุที่แข็งพอที่จะป้องกันการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อนั้นได้ ยาวรัดให้แน่นเพราะกล้ามเนื้อจะขาดเลือด
R(Rest) คือ หยุดการใช้กล้ามเนื้อนั้นจนกว่าจะหายเจ็บ
I (Ice) คือ การประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการมีเลือดออกและลดบวมและยังช่วยบรรเทาอาการปวดแต่ต้องไม่เย็นจัดเพราะเนื้อเยื่อที่ได้รับความเย็นจากแขนขาดเลือดได้ จากหลอดเลือดหดตัวจากความเย็น
C (Compression) พันรอบๆบริเวณบาดเจ็บเพื่อช่วยลดบวม ลดการเคลื่อนไหวและลดเลือดออกแต่ต้องไม่ให้แน่นเกินไปเพราะจะส่งผลให้เนื้อเยื่อขาดเลือดได้
E(Elevation) คือ ถ้าเกิดกล้ามเนื้อฉีกในบริเวณที่ยกขึ้นได้ให้ยกกล้ามเนื้อส่วนนั้นให้สูงขึ้นเพื่อลดอาการบวมจากการมีเลือดข้างในส่วนนั้นตามแรงดึงดูดของโลก

            การป้องกันกล้ามเนื้อฉีกที่สำคัญ
  • อบอุ่นกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธีและนานพอก่อนใช้แรงกล้ามเนื้อ
  • มันออกกำลังการเนื้ออย่างถูกต้องสม่ำเสมอ
  • รู้จักเทคนิคที่ถูกต้องเมื่อต้องการออกแรงเช่นในการยกของหนักเป็นต้น


                  2.4. กล้ามเนื้อระบม (Muscular Soreness) เกิดจากกำหนดการฝึก แบ่งเป็น 2 แบบคือ
การระบมแบบเฉียบพลัน (Acute Soreness) ที่เกิดขึ้นระหว่างออกกำลังกายในทันทีทันใดภายหลังการออกกำลังกาย
การระบมที่เกิดขึ้นภายหลัง (Delayed Soreness) เป็นการระบมที่เกิดขึ้นหลังจากหยุดออกกำลังกายไปแล้ว 24 – 48 ชั่วโมง
                  2.5. การบาดเจ็บที่เอ็นกล้ามเนื้อ (Tendon) แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ
เยื่อหรือปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (Tenosynovitis) เนื่องจากใช้งานมากเกินไป (overused) จะมีอาการปวดบวม
เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (Tendinitis) สาเหตุเกิดจากการใช้งานหนักเกินไปและทำอยู่เป็นประจำ
เอ็นฉีกขาด (Rupture) มักพบในคนสูงอายุมากกว่า 40 ปีเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทิศทางและความเร็วในการเคลื่อนไหวทันทีทันใด การฉีกขาดของเอ็นอาจเกิดเพียงบางส่วนหรือทั้งหมดพบได้ใน เอ็นร้อยหวาย เอ็นที่หัวไหล่และเอ็นข้อศอก
         3. การบาดเจ็บที่ข้อต่อและเอ็นยึดข้อ
                 3.1. ข้อขัด (Locking) เป็นอาการติดขัดในการเคลื่อนไหวของข้อต่อในช่วงใดช่วงหนึ่ง มีสาเหตุมาจากมีบางสิ่งบางอย่างขัดอยู่ในข้อ
                 3.2. ข้อบวม (Swelling) เกิดจากหลายสาเหตุดังนี้
  • การบวมนอกข้อต่อ เกิดจาการอักเสบของถุงหล่อลื่น (Bursa) นอกข้อต่อมักพบที่บริเวณหลังข้อมือ หรือหลังข้อเข่า
  • การบวมภายในข้อต่อ เกิดจากการบวมภายในข้อต่อ บวมออกมานอกข้อต่อ
ภาพที่ 8.4 ข้อบวม
แหล่งที่มารูปภาพ https://home.kku.ac.th/ptorawan/pic/sport_inj/type3.htm



                 3.3. ข้อติด (Stiffness) ภายหลังการบาดเจ็บของข้อต่อจะทำให้ข้อนั้นติดเพราะกล้ามเนื้อรอบๆ เกิดการตึงตัว เนื่องจากไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานานๆ
                 3.4. ข้อแพลง (Sprain) เกิดจากการเคลื่อนไหวของข้อต่อเกินปกติ ทำให้เกิดการฉีกขาดของเอ็นยึดข้อต่อ รวมถึงปลอกหุ้มข้อต่อฉีกขาดด้วย มักพบที่ข้อเท้า ข้อมือ ข้อนิ้วมือ เป็นต้น
           3 ระดับความรุนแรงข้อเท้าข้อเท้าแพง
                 ระดับ 1 การบาดเจ็บภายในเส้นเองแบบไม่มีการขาดให้เห็น
                 ระดับ 2 มีการฉีกขาดบางส่วนของเส้นเอ็น
                 ระดับ 3 มีการฉีกขาดแบบสมบูรณ์

            ปฐมพยาบาลข้อเท้าพลิกข้อเท้าแพงเบื้องต้น
            ทำได้โดยการประคบเย็นยกเท้าสูงและการทำให้ข้อไม่เคลื่อนไหวอาจพิจารณาให้ใส่เผือกระยะสั้นสั้นหรือใช้อุปกรณ์ประคองเท้าในช่วงเวลาแรกทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการบาดเจ็บแต่ผู้ป่วยที่เป็นนักกีฬาที่ใช้ข้อเท้ามากอาจต้องพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด

ภาพที่ 8.5 ข้อแพลง
แหล่งที่มารูปภาพ https://home.kku.ac.th/ptorawan/pic/sport_inj/type3.htm

             3.5. ข้อหลุดหรือเคลื่อน (Dislocation) เป็นลักษณะที่ปลายกระดูกประกอบเป็นข้อต่อออกจากที่มีอยู่ตามปกติทำให้ข้อต่อฉีกขาด กล้ามเนื้อหลอดเลือดเส้นประสาทบริเวณนั้นฉีกขาดถ้าเป็นเล็กน้อยเรียกว่า Subluxation ถ้ารุนแรงเรียกว่า Luxation แบ่งออกเป็น  2 ลักษณะ
            ก. ข้อหลุดชนิดเฉียบพลัน (Acute Dislocation) เป็นการหลุดครั้งแรกโดยที่ไม่เคยหลุดมาก่อน
            ข. ข้อหลุดชนิดเรื้อรัง (Chronic Dislocation) เป็นการหลุดตั้งแต่ครั้งที่ 2 เป็นต้นไป เป็นเพราะเอ็นยึดข้อไม่แข็งแรง หรือยืด ต้องแก้ไขโดยการผ่าตัด
            สาเหตุของข้อหลุด
เกิดจากแรงกระแทก หรือแรงดึงจากภายนอก หรืออาจเกิดจากพยาธิสภาพของข้อเอง จะมีอาการปวดบวม กดเจ็บ เคลื่อนไหวไม่ได้ รูปร่างของข้อต่อผิดไปจากเดิม การปฐมพยาบาล ให้ข้อที่หลุดอยู่นิ่งๆ ประคบเย็น และนำส่งแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
           4. การบาดเจ็บที่กระดูก กระดูกเป็นอวัยวะที่แข็งแกร่งของร่างกาย การเกิดกระดูกหักแสดงว่าแรงที่กระทำต้องมากหรือรุนแรงพอสมควร
              กระดูกหัก (Fracture) หมายถึง ส่วนประกอบของกระดูกแตกแยกออกจากกันแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
           4.1 กระดูกหักธรรมดา (Close or Simple Fracture) เป็นการหักของกระดูกไม่มีแผล และไม่มีกระดูกโผล่ออกมาภายนอก
           4.2 กระดูกหักชนิดมีบาดแผล (Opened or Compound Fracture) เป็นการหักของกระดูกและทิ่มแทงออกมานอกเนื้อ
ภาพที่ 8.6 กระดูกหัก
แหล่งที่มารูปภาพ http://thainurseclub.blogspot.com/2014/07/blog-post.html
             กระดูกส่วนต่าง ๆ ที่พบการแตกหักได้
1. กระดูกเชิงกรานหัก (Pelvic fracture)
2. กระดูกกะโหลกศีรษะหัก (Skull fracture)
3. กระดูกขากรรไกรล่างหัก (Lower Jaw fracture)
4. กระดูกไหปลาร้าหัก (Clavicle  fracture)
5. กระดูกซี่โครงหัก (Ribs fracture)
7. กระดูกต้นแขนหัก
8. กระดูกสันหลังหัก (Spinal fracture)
          สาเหตุของกระดูกหัก แบ่งเป็น 2 แบบคือ
1. เกิดจากอุบัติภัย เช่น การเล่นกีฬา ตกจากที่สูง ถูกของหนักทับ
2. เกิดจากพยาธิสภาพของกระดูกเอง เช่น โรคกระดูกพรุน โพรงกระดูกอักเสบ มะเร็งในกระดูก เป็นต้น
          การปฐมพยาบาลกระดูกหัก มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ให้การปฐมพยาบาลอย่างรีบด่วน
2. หากมีอาการเป็นลม หรือช็อก ต้องแก้ไขให้ฟื้นก่อน
3. ถ้ามีการตกเลือด ต้องห้ามเลือดด้วยวิธีการที่เหมาะสม
4. การจับหรือตรวจบริเวณที่หักต้องทำด้วยความระมัดระวัง
5. ถ้าจำเป็นต้องถอดเสื้อผ้าออก ควรใช้วิธีตัดทิ้ง
6. หากมีบาดแผลควรเช็ดล้างให้สะอาด แต่ห้ามล้างเข้าไปในแผล
7. หากจำเป็นต้องเข้าเฝือก ต้องทำด้วยความระมัดระวังและรวดเร็ว
8. การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ต้องกระทำให้ถูกหลักวิธีการ
9. รีบนำส่งแพทย์
10. การรักษากระดูกนั้น ต้องรักษาโดยแพทย์ผู้ชำนาญทางกระดูกเท่านั้น
   

สาเหตุการบาดเจ็บทางกีฬา

              การบาดเจ็บทางกีฬาอาจเกิดขึ้นได้กันทุกส่วนของร่างกาย ในปีหนึ่งๆ มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือถึงกับเสียชีวิตเป็นจำนวนไม่น้อย การบาดเจ็บทางกีฬาอาจเกิดที่ผิวหนัง กล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ ข้อต่อกระดูก เอ็นยึดข้อต่ออวัยวะภายใน สาเหตุของการบาดเจ็บทางกีฬามาจากปัจจัย 2 อย่าง คือ จากตัวผู้เล่นเองและจากสิ่งแวดล้อมภายนอก
      
          1.สาเหตุจากตัวผู้เล่นกีฬา ( Intrinsic Factors)
               1.1 การเลือกชนิดกีฬา การเลือกเล่นกีฬาที่ไม่เหมาะสมกับรูปร่างของตนเอง นอกจากจะเสียเปรียบในแง่ของการแข่งขันแล้วยังเป็นสาเหตุนำไปสู่อุบัติเหตุได้ กีฬาทุกชนิดต้องคำนึงถึงตัวผู้เล่นและความเหมาะสมเป็นอันดับแรก ซึ่งดูได้จากรูปร่าง ไหวพริบ ความคล่องแคล่วว่องไว กำลัง เป็นต้น
               1.2 ความสมบูรณ์ของสมรรถภาพทางกาย นับเป็นพื้นฐานสำคัญในการเล่นกีฬาความสมบูรณ์จะช่วยในการตัดสินใจ สร้างความมั่นใจให้กับผู้เล่นกีฬา ทำให้กล้ามเนื้อมีการถ่ายเทของเสียจากเซลล์กล้ามเนื้อได้เร็ว เหน็ดเหนื่อยช้า คนที่ขาดความสมบูรณ์ของร่างกายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้มาก
               1.3 การบาดเจ็บในอดีต ผู้ที่เล่นกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บและยังไม่หาย หากลงไปเล่นอีก อาจเกิดอุบัติเหตุซ้ำได้อีก ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายมาก ทำให้รักษาเพื่อให้หายเป็นปกติจะต้องใช้เวลานานกว่าเดิมอีกหลายเท่า บางครั้งทำให้การออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาเสียไป เช่น ไม่สามารถจะใช้อวัยวะส่วนที่บาดเจ็บได้เต็มที่หรือกลัวจะถูกซ้ำรอยเดิม ดังนั้นผู้ที่เล่นกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บจะรักษาให้หายขาด และถ้าลงแข่งขันอีกด้วยได้รับอนุญาตจากแพทย์เสียก่อน
               1.4 ด้านจิตวิทยา พบว่าที่ผู้เล่นกีฬาที่ได้รับอุบัติเหตุมี 2 พวก คือ พวกที่กล้ามากและพวกที่กลัวไม่กล้าตัดสินใจ ทั้งสองพวกนี้ต้องควบคุมจิตใจให้ดี เพราะมีโอกาสก่อให้เกิดบาดเจ็บได้เท่าๆ กัน กล่าวคือ พวกที่บ้าบิ่น มุทะลุ ชอบความรุนแรง ต้องการทำอะไรตามใจตนเอง จึงขาดความระมัดระวัง คึกคะนองเกิดกว่าเหตุ ส่วนพวกที่ขี้ขลาดก็ไม่กล้าตัดสินใจ ทำให้เกิดการบาดเจ็บเนื่องจากตัดสินใจไม่ถูกจังหวะ
                1.5 ด้านความปลอดภัย ขาดจิตใจสำนึกใจความรับผิดชอบต่อสภาพที่ทำให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ในเรื่องนี้จำเป็นต้องได้รับรู้ การฝึกปฏิบัติเป็นประจำจนเกิดนิสัยแห่งความปลอดภัย รวมทั้งการควบคุมอารมณ์ของตนเองให้อยู่ในหลักแห่งความปลอดภัยใจเย็นและอยู่ในเกม (Stay safe, stay cool and stay in focus)
                1.6 การเตรียมพร้อมก่อนลงแข่งขัน การบาดเจ็บมักเกิดขึ้นได้เสมอ เนื่องจากการเตรียมตัวไม่พร้อมก่อนลงแข่งขันอันได้แก่ ชุดแข่งขัน อุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บประจำตัวรวมถึงการอบอุ่นร่างกาย ( Warm-up) และการผ่อนคลายร่างกายหลังออกกำลังกาย (Cool down)
                1.7 การใช้ยากระตุ้น (โด๊ป) เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอันขาด นักกีฬาที่มีสมรรถภาพทางกายดีอยู่แล้ว การโด๊ปจะไม่ช่วยให้เกิดผลดีขึ้นมา ส่วนในนักกีฬาที่มีสมรรถภาพทางกายมีสมบูรณ์พอก็จะเกิดการบาดเจ็บจากการโด๊ป เนื่องจากร่างกายจะต้องทำงานหนักเกินขีดความสามารถปกติของร่างกาย มักจะพบว่านักกีฬาโด๊ปยาบางชนิดจะเสียชีวิตในระหว่างการแข่งขันหรือหลังจากการแข่งขันยุติแล้ว
                1.8 ทักษะความสามารถในการเล่น ผู้ที่มีทักษะไม่ดีพอหรือไม่เคยเล่นกีฬามาก่อน เมื่อเข้าร่วมเล่นโดยเฉพาะกีฬาที่มีการปะทะมักจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เนื่องจากขาดประสบการณ์ การขาดทักษะในการเล่น เสียพลังงานมาก โดยไม่จำเป็นแล้ว ยังทำให้ได้รับการบาดเจ็บได้ง่าย
                1.9 คุณธรรมในการเล่น ผู้เล่นกีฬาต้องไม่มีความเห็นแก่ตัว ต้องระลึกอยู่เสมอว่าการบาดเจ็บอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ดังนั้น จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการเล่นทั้งของตนและผู้อื่น ไม่คิดที่จะเอาเปรียบคู่แข่งขัน หรือใช้วิธีตุกติก คดโกงในการเล่นและจะต้องเล่นอย่างเป็นผู้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา มีระเบียบวินัยในการเล่นกีฬา
                1.10 การฝึกซ้อมมากเกินไป ผู้ฝึกสอนมักจะวิตกกังวลเมื่อถึงฤดูการแข่งขันเกรงว่านักกีฬาของตนจะแพ้จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างสมรรถภาพทักษะ เทคนิควิธีโดยการฝึกที่เข้มอาจเป็นผลในทางลบก็ได้ เช่น เกิดการเบื่อหน่าย หงุดหงิด นอนไม่หลับเบื่ออาหาร สมรรถภาพทางกายลดลง หากปรากฏอาการดังกล่าวนี้ ควรหยุดฝึกซ้อมสักระยะหนึ่งเพิ่มการพักผ่อนให้มากขึ้น เพราะถ้าฝึกซ้อมต่อไปโอกาสจะเกิดอุบัติเหตุก็มีสูงขึ้น
                1.11 การเล่นกันเองตามลำพัง นักเรียนที่เล่นกีฬาบางอย่างโดยปราศจากการควบคุมแลของครูหรือผู้ฝึกสอนที่มีความรู้ ความชำนาญ โอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บย่อมมีมาก
                1.12 การไม่เคารพกฎกติกา การเล่นกีฬาที่ผิดกติกาทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ย่อมทำให้ได้รับบาดเจ็บได้ง่าย ซึ่งอาจจะเกิดได้กับตัวผู้เล่นเองหรือผู้อื่น

     2. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ( Extrinsic Factors)
                 2.1 ลักษณะธรรมชาติของชนิดกีฬา กิจกรรมกีฬาบางชนิด โดยกลไกของการเล่นแล้วจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บได้ เช่น การชกมวย มวยปล้ำ ยูโด นอกจากนี้กีฬาที่มีการปะทะกันย่อมเกิดเหตุได้มากกว่ากีฬาที่มีตาข่ายกั้นกลาง และยังรวมถึงตำแหน่งที่ลงเล่น เวลาที่ใช้ในการเล่นด้วย
                 2.2 ความบกพร่องของอุปกรณ์การเล่นและสนามแข่งขัน การใช้อุปกรณ์ที่บกพร่องชำรุดย่อมก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย สนามเล่นหรือแข่งขันที่อยู่ในสภาพไม่เรียบร้อยเป็นหลุมเป็นบ่อเปียกลื่น ย่อมทำให้ผู้เล่นมีโอกาสเกิดอันตรายได้ง่าย
                 2.3 คู่ฝึกซ้อมแข่งขันที่ไม่เหมาะสม การจัดคู่ฝึกซ้อมหรือคู่แข่งขันที่ไม่เหมาะสมกันย่อมก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อผู้เล่นได้ง่าย โดยเฉพาะกีฬาที่มีการปะทะกัน
                 2.4 ผู้ตัดสินตามเกมการแข่งขันไม่ทัน ผู้ตัดสินกีฬามีบทบาทสำคัญในการควบคุมการแข่งขัน ความเด็ดขาด มีปฏิภาณไหวพริบ ทันเกมการแข่งขัน และการตัดสินใจที่ถูกต้องของผู้ตัดสินจะช่วยทำให้นักกีฬาหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บได้ เพราะจะทำให้นักกีฬาเล่นในเกมตามกติกา ไม่ก่อให้เกิดการเล่นที่รุนแรง ผู้ตัดสินควรจะเป็นผู้ที่มีสมรรถภาพทางกายดี สายตาดี ตัดสินใจและถูกต้อง มีทักษะและประสบการณ์มาก ตลอดจนเข้าใจกติกาของกีฬานั้นๆ เป็นอย่างดี
                 2.5 ผู้สอนขาดทักษะในการสอน ผู้สอนที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความสามารถในการสอนได้อย่างถูกต้อง จะช่วยป้องกันมิได้เกิดการบาดเจ็บได้ รวมทั้งรู้จักหาวิธีป้องกันล่วงหน้าตรงข้ามกับผู้สอนที่ขาดทักษะในการสอน ย่อมทำให้เกิดการบาดเจ็บเจ็บได้ง่าย
                 2.6 กองเชียร์และผู้ดู เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักกีฬาเกิดการบาดเจ็บได้ เช่น การเชียร์โดยยั่วยุให้นักกีฬาใช้วิธีรุนแรง มีการยกพวกตีกันทั้งผู้เล่นและผู้ดู
                 2.7 การควบคุมและการสื่อสารที่ดี การทำงานที่ขาดระบบงาน ขาดการประสานงาน ขาดการประชาสัมพันธ์ ย่อมทำให้เกิดอุบัติเหตุและอันตรายได้ง่าย


บัญญัติ  10 ประการสำหรับการออกกำลังกายและการเล่นกีฬา

การที่เราจะมีร่างกายที่แข็งแรงและสมบูรณ์นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ การออกกำลังกายนอกจากจะมีผลต่อร่างกายแล้ว ยังทำให้จิตใจและสมองแจ่มใสคิดการใดก็ย่อมประสบผลสำเร็จ มีหลายคนหันมาออกกำลังกายกันโดยการวิ่งเหยาะๆ ในตอนเช้า หรือเล่นกีฬากันในช่วงวันหยุด แต่มีบางคนบ่นว่าทำไมออกกำลังกายแล้วร่างกายกลับทรุดโทรมลง อาจเป็นเพราะว่าคุณไม่มีหลักในการออกกำลังกายที่พอเหมาะพอดี บัญญัติ 10 ประการจะทำให้คุณเข้าใจว่าออกกำลังกายอย่างไรให้ได้ผลดี
1. การประมาณตน  สภาพร่างกายและความเหมาะสมกับกีฬาชนิดต่างๆของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงมีกฎตายตัวว่า การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬานั้นจะต้องเป็นไปตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกายของเรา อย่างไรถึงเรียกว่าเหมาะสม คือ ไม่ออกกำลังกายมากหรือน้อยเกินไป ข้อสังเกตที่ทำให้ทราบว่าเราออกกำลังมากเกินไปหรือเปล่า สังเกตจากความเหนื่อย หากออกกำลังถึงขั้นเหนื่อยแล้วยังสามารถออกกำลังต่อไปด้วยความหนักเท่าเดิมโดยไม่เหนื่อยเพิ่มขึ้น หรือเมื่อพักแล้วไม่เกิน 10 นาทีก็รู้สึกหายเหนื่อย แสดงว่าการฝึกซ้อมหรือการออกกำลังนั้นไม่หนักเกิน แต่ถ้ารู้สึกเหนื่อยแล้วและฝืนต่อไปกลับเหนื่อยมากจนหอบ พักเป็นชั่วโมงก็ยังไม่หาย แสดงว่าการออกกำลังนั้นหนักเกินไป
2. การแต่งกาย  มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านการเคลื่อนไหว ความอดทน และจิตวิทยา จะเห็นได้ว่าการกีฬาแต่ละชนิดจะมีเครื่องแต่งกายที่แตกต่างและเหมาะสมในแต่ละประเภท การแต่งกายที่ดีจึงไม่ควรใส่เสื้อผ้ารุ่มร่าม รองเท้าที่ไม่เหมาะกับสภาพสนามเพราะมีผลในการเคลื่อนไหว หรือการใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดเกินไป หรือเสื้อผ้าที่ทำด้วยวัสดุสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติในการซับเหงื่อได้น้อย จะทำให้การระบายความร้อนในร่างกายเป็นไปด้วยความลำบาก
3. เลือกเวลา ดินฟ้าอากาศ  การฝึกซ้อมที่ดีนั้นควรกำหนดเวลาให้แน่นอน และควรเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน เพราะมีผลต่อการปรับตัวของร่างกาย การฝึกซ้อมตามสะดวก ไม่มีการกำหนดเวลาที่แน่นอน จะทำให้การปรับตัวของร่างกายสับสน การฝึกซ้อมอาจจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร การฝึกซ้อมในช่วงอากาศร้อน (ตอนบ่าย) ควรฝึกในด้านกล้ามเนื้อและความเร็วในระยะสั้นๆ ส่วนการฝึกซ้อมด้านความอดทน ควรฝึกในช่วงตอนเช้าหรือตอนเย็นจะได้ผลดีกว่าในช่วงกลางวัน
4. สภาพของกระเพาะอาหาร  ในเวลาอิ่มจัด กระเพาะอาหารซึ่งอยู่ใต้กะบังลมจะเป็นตัวที่ทำให้การขยายของปอดไม่ได้ดีเท่าที่ควร เพราะกะบังลมไม่อาจหดตัวต่ำลงได้มาก ในขณะเดียวกันการไหลเวียนของเลือดจะต้องแบ่งเลือดส่วนหนึ่งไปใช้ในการย่อยอาหาร ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อลดน้อยลง จึงเป็นผลเสียต่อการออกกำลังกาย ยิ่งกว่านั้นในกีฬาที่มีการกระทบกระแทก กระเพาะอาหารที่เต็มแน่นจะแตกได้ง่ายกว่ากระเพาะอาหารว่าง หลักทั่วไปจึงควรงดอาหารหนักก่อนออกกำลังประมาณ 3 ชั่วโมง
5. การดื่มน้ำ  น้ำมีความจำเป็นมากในการออกกำลัง เพราะถ้าร่างกายสูญเสียน้ำไปมากถึงปริมาณหนึ่ง สมรรถภาพจะลดต่ำลงเนื่องจากการระบายความร้อนออกจากร่างกายขัดข้อง ในร่างกายจะมีน้ำสำรองประมาณร้อยละ 2 ของน้ำหนักตัว ดังนั้นการเล่นกีฬาใดๆก็ตามที่มีการเสียน้ำไม่เกินกว่าร้อยละ 2 ของน้ำหนักตัว และก่อนการแข่งขันร่างกายอยู่ในสภาพที่ไม่ขาดดุลน้ำ หรือในระหว่างเล่นไม่เกิดความกระหาย ผู้เล่นไม่จำเป็นต้องเติมน้ำในระหว่างนั้น
6. ความเจ็บป่วย  ความเจ็บป่วยทุกชนิดทำให้สมรรถภาพของร่างกายลดลง และร่างกายต้องการการพักผ่อนอยู่แล้ว การออกกำลังที่เคยทำอยู่ย่อมเป็นการเกินกว่าที่สภาพร่างกายจะรับได้ และอาจทำให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นไข้หรือไข้ที่เกิดจากเชื้อโรค แต่สำหรับการเป็นหวัด แพ้อากาศ ถ้าไม่มีอาการอื่นร่วม เช่น ไข้ เจ็บคอ ไอ อ่อนเพลีย สามารถฝึกซ้อมและออกกำลังได้ตามปกติ
7. ความเจ็บป่วยระหว่างการออกกำลังกาย  การออกกำลังใดๆก็ตาม โอกาสจะเกิดอุบัติเหตุมีได้มากกว่าการอยู่เฉยๆ ยิ่งเป็นการเล่นกีฬาที่มีการปะทะกันด้วยแล้ว โอกาสเกิดอุบัติเหตุยิ่งมีมากขึ้น หากเกิดความรู้สึกไม่สบาย อึดอัด การเคลื่อนไหวบังคับไม่ได้ เป็นสัญญาณที่แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ถ้าฝืนออกกำลังต่อไปโอกาสที่จะเจ็บป่วยขึ้นจนถึงขั้นร้ายแรงย่อมมากขึ้นตามลำดับ เมื่อเกิดความเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุขึ้นในระหว่างการออกกำลังควรหยุดพักผ่อน ข้อนี้สำคัญมากสำหรับผู้เล่นกีฬาหรือออกกำลังที่มีอายุเกิน ๓๕ ปีขึ้นไป
8. ด้านจิตใจ  ในระหว่างการฝึกซ้อมและออกกำลังนั้น จำเป็นต้องทำจิตใจให้ปลอดโปร่งและมีสมาธิ หากไม่มีสมาธิในการฝึกซ้อม ก็ไม่ควรฝึกซ้อมหรือออกกำลังต่อไป เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
9. ความสม่ำเสมอ  การเพิ่มสมรรถภาพต่างๆ นอกจากจะขึ้นอยู่กับปริมาณความหนักเบาของการฝึกซ้อมและออกกำลังแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอด้วย การฝึกหนักติดต่อกัน 1 เดือนแล้วหยุดไป 2 สัปดาห์มาเริ่มใหม่ จะเริ่มเท่ากับการฝึกครั้งสุดท้ายไม่ได้ จะต้องลดความหนักให้ต่ำกว่าครั้งสุดท้ายที่ฝึกอยู่ แล้วค่อยๆเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการเสียเวลามาก โอกาสที่จะเพิ่มสมรรถภาพให้สูงกว่าเดิมจึงมีน้อยลง
10. การพักผ่อน  หลังจากฝึกซ้อมและออกกำลัง ร่างกายเสียพลังงานสำรองไปมาก จำเป็นต้องมีการชดเชย รวมทั้งต้องซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและสร้างเสริมให้แข็งแรงขึ้น กระบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในระหว่างการพักผ่อน ข้อสังเกตว่าเราพักผ่อนเพียงพอดูจากก่อนฝึกซ้อมครั้งต่อไปร่างกายจะต้องสดชื่นอยู่ในสภาพเดิมหรือดีกว่าเดิม และทำการฝึกซ้อมได้มากขึ้น
ปัจจุบันคนไทยมีความตื่นตัวในเรื่องของการออกกำลังกาย เพื่อส่งเสริมสุขภาพกันอย่างมากเนื่องจากที่ทราบกันดีว่า การออกกำลังกายเป็นประโยชน์ต่อร่างกายของเราหลายประการ เช่น ช่วยเพิ่มประสิทฺภาพการทำงานของระบบหัวใจและปอด ทำไห้เราไม่เหนื่อยง่าย ทำงานได้มากขึ้นรู้สึกกระปี้กระเป่า นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันโรคร้ายแรงต่างๆ ได้มากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโรหิตสูง โรคมะเร็ง (ได้แก่ มะเร็งลำไส้ ปอด ต่อมลูกหมาก เต้านม) โรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน โรคอัมพาต และโรคอ้วน ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า การออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ จะช่วยให้เรามีชีวิตที่แข็งแรงและยาวนานขึ้น จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคน เริมต้นออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกันเถอะ

ถึงแม้ว่า การออกกำลังกายจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายหลายประการ แต่ก็สามารถก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้เช่นเดียวกัน โดยผลเสียมีตั้งแต่เล็กน้อย เช่นปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือเจ็บข้อต่างๆ ภายหลังการออกกำลังกาย ไปจนกระทั่งถึงขั้นเสียชีวิตเนื่องจากการออกำลังกาย ซึ่งในระยะหลัง เรามักจะได้ยินข่าวลักษณะนี้อยู่บ่อยๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า มีผู้ที่มีชื่อเสียงหลายคนเสียชีวิตในขณะออกกำลังกายอยู่ ไม่เว้นแม้กระทั่งนักกีฬา ซึ่งเรามักคิดว่าเป็นคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ดังนั้นผู้ที่คิดจะเริ่มต้นออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ หรือว่าผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว ควรที่จะป้องกันตนเองจากผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการออกกำลังกาย เพื่อที่การออกกำลังกายของท่าน จะได้เป็นไปเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง

สรุปท้ายบท

            การออกกำลังกาย ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียขึ้นอยู่กับว่าเราทำตามถูกวิธีหรือเปล่า แล้วเราต้องดูว่าขีดจำกัดและเราเหมาะกับการออกกำลังกายแบบไหน ถ้าเราฝืนมากไปจะทำให้เราบาดเจ็บ จากเล็กน้อย จนถึงเล่นกีฬาไม่ได้เลย เราต้องรู้ว่าตัวเราพอแค่ไหน ดูแลเรื่องการกินของเราด้วย เนื่องจากผลวิจัยของ อเมริกา บอกว่ามนุษย์เราสามารถอยู่ได้ถึง 140 ปี ถ้าเราเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกาย ถ้าบาดเจ็บอย่าฝืนให้เราค่อยๆเล่นไปจากน้อยๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าเกิดการบาดเจ็บก็หยุดกิจกรรมทุกอย่าง แล้วพักฟื้นถึงเราไม่บาดเจ็บเราก็สามารถช่วยเพื่อนที่บาดเจ็บได้จากการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ให้กับเพื่อนเรา หรือ อาจจะไม่เกิดในการเล่นกีฬา บางครั้งเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดเราก็สามารถเข้าไปช่วยยื้อชีวิตของเขาได้ เราต้องมีความรู้พื้นฐานด้านการปฐมพยาบาล เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากตนเองแล้ว คนรอบข้างหมั่นดูแลสุขภาพ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ
            การบาดเจ็บทางการกีฬาเกิดขึ้นได้หลายแบบ บางชนิดนักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนสามารถรักษาพยาบาลกันเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางแพทย์แต่อย่างใด บางชนิดจำเป็นต้องอาศัยแพทย์เป็นผู้บำบัดรักษาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การปฐมพยาบาลเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะแม้จะเป็นการบาดเจ็บที่ต้องรับการรักษาจากแพทย์ แต่ถ้าได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีก่อนที่จะมีแพทย์มาดู หรือ ก่อนที่จะไปถึงมือแพทย์ก็สามารถแบ่งเบาภาระของแพทย์ทำไห้การรักษาง่ายขึ้น ตรงกันข้ามถ้าได้รับการปฐมพยาบาลวิดวิธี อาจทำให้การบาดเจ็บน้องกลายเป็นบาดเจ็บมากและรักษาได้ยากขึ้น ดังมีตัวอย่างเสมอในบ้านเรา ซึ่งไม่สามารถจะมีแพทย์ประจำสนามได้ทุกครั้งที่มีการฝึกซ้อมหรือแข่งขั

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม