LESSON 4 สมรรถภาพทางกาย

บทที่ 4
สมรรถภาพทางกาย



               บ่อยครั้งที่คำว่า “กิจกรรมทางกาย” และ “สมรรถภาพทางกาย” มีการเข้าใจผิดว่าคือคำหรือสิ่งๆ เดียวกันและสามารถใช้คำสองคำนี้ทดแทนกันได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้ทั้งสองคำนั้นจะมีความสัมพันธ์กันอยู่อย่างมาก แต่มีความแตกต่างที่ชัดเจนอยู่นั้นคือ กิจกรรมทางกาย (physical activities) เป็นพฤติกรรมทางกายซึ่งเราทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ส่วนสมรรถภาพทางกาย (physical fitness) เป็นลักษณะทางชีวภาพหรือลักษณะทางกายที่เรามี ดังนั้นหากเรามีลักษณะทางชีวภาพหรือมีคุณสมบัติทางกายที่ดีเราก็จะสามารถมีพฤติกรรมทางกายที่ดีได้ หรืออาจพูดง่ายๆ คือ หากมีสมรรถภาพทางกายที่ดี ก็จะสามารถดำเนินกิจกรรมทางกายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ การตรวจสอบว่าร่างกายดีหรือไม่ มีแบบทดสอบรวมไปถึงวิธีการวัดหลายอย่างหลายวิธี ซึ่งจะมีค่ามาตรฐานสมรรถภาพทางกายที่แตกต่างกันตามวิธีการทดสอบ

ความหมายของสมรรถภาพทางกาย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ได้ให้ความหมายของคำว่า สมรรถภาพทางกาย ว่าหมายถึง “ความสามารถ”
               สมรรถภาพทางกาย หรือ สมรรถนะทางกาย(physical fitness/ physical Performance) คือ ความสามารถของบุคคลในการประกอบกิจกรรมหรือการงานอย่างหนึ่งอย่างใดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ราบรื่น โดยปราศจากการเหนื่อยล้ำ ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถที่จะถนอมทำงานหรือกิจกรรมอื่น ๆที่จำเป็นและสำคัญในชีวิตได้อีก
สมรรถภาพทางกาย คือ ลักษณะของร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง สามารถที่จะประกอบกิจกรรมต่าง ๆได้เป็นระยะเวลานาน ๆ และผลที่ได้รับมีประสิทธิภาพสูงรวมทั้งการที่ร่างกายสามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้ในเวลาสั้น
               สมรรถภาพทางกาย คือ ความสามารถในการประกอบกิจกรรมประจำวันด้วยความกระฉับกระเฉงว่องไว ปราศจากความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า และมีพลังงานเหลือพอที่จะนำไปใช้ประกอบกิจกรรมเวลาว่าง และเตรียมพร้อมที่จะเผชิญภาวะฉุกเฉินได้ดี
               สมรรถภาพทางกาย คือ ภาพความสามารถของร่างกายในการประกอบการงานหรือกิจกรรมทางกาย อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอย่างดี โดยไม่เหนื่อยเร็ว สมรรถภาพทางกายเป็นส่วนสำคัญ ในการพัฒนาการทางด้านร่างกายของมนุษย์ สมรรถภาพทางกายของบุคคลทั่วไปจะเกิดขึ้นได้จากการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าหยุดออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงเมื่อใด สมรรถภาพทางกายจะลดลงทันที
               แม็ททิวส์ (Mathews, 1978 : 127)ได้ให้ความหมายของสมรรถภาพทางกายไว้ว่าหมายถึงความสามารถในการปฏิบัติงานอย่างหนักของร่างกายซึ่งประกอบด้วยผลจากการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดความแข็งแรงความอดทนความอ่อนตัวการประสานสัมพันธ์ระหว่างประสาทและกล้ามเนื้อและสัดส่วนที่เป็นองค์ประกอบของร่างกาย
               คลาร์ค(Clarke,1976:14) กล่าวว่า สมรรถภาพทางกาย หมายถึง ความสามารถในการประกอบกิจกรรมประจำวันด้วยความกระฉับกระเฉง ว่องไว ปราศจากความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้าและมีพลังเหลือพอที่จะนำไปใช้ในการประกอบกิจกรรมบันเทิงในเวลาว่าง และเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับภาวะฉุกเฉินได้ดี
               ฉัตรชัย ประภัศร กล่าวว่า สมรรถภาพทางกาย หมายถึง ความสามารถของร่างกายในการประกอบกิจกรรมต่างๆ หรือกิจกรรมการเล่น หรือการออกกำลังกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
               สรุปสมรรถภาพทางร่างกาย หมายถึง การที่ร่างกายสามารถปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ทั้งในชีวิตประจำวันและกิจกรรมอื่น เช่น การเล่นกีฬากิจกรรมนันทนาการ ฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ สามารถทำงานได้นาน ได้ผลงานมากและสามารถทำได้เร็ว ความสามารถของร่างกายที่ใช้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่เกิดความเหนื่อย หรือเกิดน้อยและมีพลังงานเหลือในร่างกายที่จะประกอบกิจกรรมฉุกเฉินหรือนันทนาการได้และสภาวะของร่างกายที่มีสุขภาพดีสามารถประกอบกิจกรรมต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่เกิดการเมื่อยล้าและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข


ความสำคัญของสมรรถภาพทางกาย

          สมรรถภาพทางกายที่ดีเมื่อเข้ารวมการมีสุขภาพจิตที่ปกติ การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างที่เป็นปกติตลอดจนทรรศนะของบุคคลด้านคุณธรรม หรือศีลธรรมอันดีงาม จะเป็นผลรวมให้ตัวบุคคลผู้นั้นเป็นประชากรที่มีคุณภาพเป็นที่พึ่งปรารถนาของสังคมและประเทศชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลทุกระดับ เราสามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่า การีสมรรถภาพทางกายที่ดีจะช่วยให้เกิดผล 3 ด้าน ดังต่อไปนี้

ผลต่อสุขภาพทางร่างกาย
1. ระบบหัวใจและการไหลเวียนโลหิต
-    หัวใจมีขนาดใหญ่ขึ้น ปริมาณการสูบฉีดโลหิตมีมากขึ้น
-    กล้ามเนื้อหัวใจมีความแข็งแรงมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
-    อัตราการเต้นของหัวใจหรืออัตราชีพจรต่ำลง
-    หลอดเลือดมีความยืดหยุ่นตัวดี
-    ปริมาณของเม็ดเลือดและสารฮีโมโกลบินเพิ่มมากขึ้น
ภาพที่ 4.1 การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
แหล่งที่มารูปภาพ https://woranoot.wordpress.com/healthy-2

2.   ระบบการหายใจ
-    ทรวงอกขยายใหญ่ขึ้น กล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจทำงานดีขึ้น
-    ความจุปอดเพิ่มขึ้นเนื่องจากปอดขยายใหญ่ขึ้น การฟอกเลือดทำได้ดีขึ้น
-    อัตราการหายใจต่ำลง เนื่องจากปอดมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
3.  ระบบกล้ามเนื้อ
-     กล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะมีโปรตีนในกล้ามเนื้อมากขึ้นเส้นใยกล้ามเนื้อโตขึ้น
-     การกระจายของหลอดเลือดฝอยในกล้ามเนื้อมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อสามารถทำงานได้นาน หรือมีความทนทานมากขึ้น
ภาพที่ 4.2 การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
แหล่งที่มารูปภาพ http://www.hunsa.com/threads/8

4. ระบบประสาท การทำงานเกิดดุลยภาพ ทำให้การปรับตัวของอวัยวะต่างๆ ทำได้เร็วกว่าการรับรู้สิ่งเร้า
5. ระบบต่อมไร้ท่อ การทำงานของต่อมที่ผลิตฮอร์โมน ซึ่งทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหวร่างกายได้เป็นปกติและมีประสิทธิภาพ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต และต่อมในตับอ่อน เป็นต้น
6.  ระบบต่อมอาหารและการขับถ่าย สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การผลิตพลังงานและการขับถ่ายของเสียเป็นไปได้ด้วยดี
7.  ปร่างทรวดทรงดี มีการทรงตัวดี บุคลิกภาพและอิริยาบถในการเคลื่อนไหวสง่างามเป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็น

ภาพที่ 4.3 การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
แหล่งที่มารูปภาพ http://kmchealthforum.blogspot.com/2011/09/tutorial_02.html

8. มีภูมิต้านทานโรคสูง ไม่มีการเจ็บป่วยง่าย ช่วยให้อายุยืนยาว
9. มีสุขภาพจิตดี สามารถเผชิญกับสถานการณ์ที่สร้างความกดดันทางอารมณ์ได้ดี ปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้ดี มีความสดชื่นร่าเริงอยู่เสมอ

ภาพที่ 4.4 การมีสุขภาพจิตดีเนื่องจากการออกกำลังกาย
แหล่งที่มารูปภาพ https://woranoot.wordpress.com/healthy-2

ผลต่อครอบครัว
               จากการที่สมาชิกในครอบครัวเป็นผู้ที่มีสมรรถภาพทางกายดี เป็นผลให้ครอบครัวมีความอบอุ่น เป็นปึกแผ่นมั่นคง แต่ละคนต่างหน้าที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบครัวจะมีความสุข

ภาพที่ 4.5 การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของครอบครัว
แหล่งที่มารูปภาพ http://theurbanfitnessclub.com.au/2014/01/24/family-exercise-in-blackburn/

ผลต่อสังคมประเทศชาติ

               เมื่อบุคคลในชาติเป็นผู้มีประสิทธิภาพทางกายดี ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ สามารถประกอบอาชีพของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลผลิตของชาติก็สามารถเพิ่มขึ้นได้ ประเทศชาติก็เจริญก้าวหน้า การพัฒนาประเทศก็ดำเนินไปได้ด้วยดี ประเทศมั่นคง อีกด้านหนึ่งถ้าประชาชนมีประสิทธิภาพทางกายดีประกอบกับมีความสามารถทางด้านกีฬา เมื่อมีการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ ยังจะสามารถมีโอกาสได้รับชัยชนะ สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

ภาพที่ 4.6 การแข่งขันกีฬาเพื่อสร้างชื่อเสียง
แหล่งที่มารูปภาพ https://swiftty.wordpress.com/gallery/


องค์ประกอบสมรรถภาพทางกาย

ภาพที่ 4.7 การวัดสมรรถภาพทางกาย
แหล่งที่มารูปภาพ https://sites.google.com/site/healtheducation470/hnwy-kar-reiyn-ru-thi7/6-4

เมื่อร่างกายมีการทำกิจกรรมหรือมีการเคลื่อนไหวจากการทำงานระบบต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสนองตอบการเคลื่อนไหวที่แตกต่างไป ตามการประกอบกิจกรรมและการออกกำลังกายนั้นจำเป็นต้องอาศัยสมรรถภาพทางกายซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวหรือการทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านั้น ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดในการทำงานที่ต้องการสมรรถภาพทางกายของมนุษย์แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

Health Related Fitness (HRF) หรือสุขสมรรถนะ เป็นสมรรถภาพทางกายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่จำเป็น ผู้ที่มีสมรรถภาพทางกายด้านนี้ดีจะมีสุขภาพที่แข็งแรง หัวใจและปอดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีรูปร่างที่สมส่วนมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงและอดทน สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้กระฉับกระเฉงว่องไวไม่เหนื่อยง่าย และมีแรงหรือพลังเพียงพอที่จะทำกิจกรรมยามว่างได้ด้วย

Skill Related Fitness,Motor Fitness/ Motor Ability (SRF) หรือทักษะสมรรถนะ เป็นสมรรถภาพทางกายที่เกี่ยวข้องกับทักษะกีฬา สมรรถภาพทางกลไก ที่จำเป็นต้องมีเพิ่มเติมขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องออกกำลังกายในระดับสูงหรือเป็นนักกีฬา สมรรถภาพทางกายด้านนี้เป็นการรวมสุขสมรรถนะเข้ากับสมรรถภาพการเคลื่อนไหวร่างกายในระดับสูง ร่วมไปถึงการทำงานประสานกันอย่างกลมกลืนระหว่างระบบประสาทและกล้ามเนื้อ

สามารถแยกประเภทสมรรถภาพได้ในด้านต่างๆ ดังนี้
               2.1 ความอดทนของระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจ (cardio-respiratory endurance) คือ ความสามารถของบุคคลในการอดทนต่อการทำงานหรือกิจกรรมที่มีความหนักปานกลางได้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ โดยปราศจากความเหนื่อยล้า เช่น การเดิน การวิ่ง การขี่จักรยาน การว่ายน้ำระยะไกล โดยกิจกรรมที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่เป็นหลัก ผู้ที่มีสมรรถภาพในด้านนี้ดีจะสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้การเดินหรือการวิ่งเล่น โดยไม่เหนื่อยง่าย
ความอดทนของระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจนั้นวัดได้จากค่าการใช้ออกซิเจนสูงสุดของร่างกาย (VO2max) การหาค่า VO2max ทำได้หลายวิธีในทั้งในห้องปฏิบัติการและการทดสอบภาคสนาม ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอวิธีการต่างๆ ไว้หลากหลายที่ทำได้ง่ายและไม่สิ้นเปลืองมาใช้ในการทดสอบโดยสามารถเลือกวิธีการต่างๆ ได้จากหัวข้อการทดสอบสมรรถภาพทางกายในเรื่องการทดสอบค่าการใช้ออกซิเจนสูงสุด

ภาพที่ 4.8 ระบบทางเดินหายใจ
แหล่งที่มารูปภาพ http://hapound.blogspot.com/2010/08/blog-post_31.html

                2.2 ความอดทนของกล้ามเนื้อ (muscular endurance) คือความสามารถของกล้ามเนื้อในการหดตัวด้วยระดับเกือบสูงสุด (Submaximal contractions) ได้เป็นเวลานานโดยไม่มีอาการล้าหรือมีอาการล้าน้อยที่สุด ความอดทนของกล้ามเนื้อจะมีความสำคัญในหลายๆชนิดกีฬา ดังนั้นกีฬาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความอดทนของกล้ามเนื้อ ควรจะฝึกความอดทนของกล้ามเนื้อให้เฉพาะเจาะจงกับกีฬาชนิดนั้น
               ในคนปกติความอดทนของกล้ามเนื้อคือความสามารถของบุคคลในการใช้กล้ามเนื้อทำงานหรือกิจกรรมซ้ำๆได้เป็นเวลานาน โดยอาจเป็นการทำงานของกล้ามเนื้อมัดหนึ่ง หรือกล้ามเนื้อไหล่มัดในกลุ่มเดียวกันต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ ผู้ที่มีสมรรถภาพด้านนี้ดีจะสามารถทำกิจกรรมที่ต้องใช้การทำงานของกล้ามเนื้อซ้ำไปซ้ำมาเช่น การถูพื้นการเช็ดกระจก การล้างรถ ได้โดยไม่เกิดอาการเมื่อยล้าหรือเกิดขึ้นช้า

               2.3 ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (muscular strength) ความแข็งแรง (Strength) จะมีความหมายเหมือนกับคำว่าแรง (Force) ในทางฟิสิกส์ แรงหมายถึงความสามารถในการเคลื่อนที่มวลหรือวัตถุจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ส่วนแรงในทางสรีรวิทยาก็คือความสามารถสูงสุดของบุคคลที่เกิดจากการหดตัว 1 ครั้งของกล้ามเนื้อ เพื่อก่อให้เกิดแรงสูงสุดในการเคลื่อนน้ำหนักหรือต้านนน้ำหนักเพียงครั้งเดียวโดยไม่จำกัดเวลาหรืออธิบายง่ายๆคือการที่ร่างกายความสามารถกล้ามเนื้อที่หดตัวเพื่อสู้แรงต้านให้ได้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นการดัน การผลัก การยกสิ่งของ ความแข็งแรงแบ่งเป็นชนิดต่างๆได้ 3 แบบคือ
                              2.3.1 ความแข็งแรงสูงสุด (maximum strength) เป็นความสามารถของกล้ามเนื้อที่หดตัวสู้แรงต้านด้วยความแรงสูงสุดเพียง 1 ครั้ง โดยไม่จำกัดความเร็ว (speed) ซึ่งอาจจะเป็นการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากเท่าที่เราจะสามารถยกได้แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
                                             2.3.1.1 ความแข็งแรงแบบอยู่กับที่ (isometric or static strength) หมายถึงการออกแรงสูงสุดในครั้งเดียวเพื่อต้านแรงต้าน โดยกล้ามเนื้อมีการหดตัว แต่ความยาวของกล้ามเนื้อไม่เปลี่ยนแปลงเป็นการหดเกร็งโดยไม่มีการเคลื่อนไหวเช่น การดันสิ่งของต่างๆ หรือออกเเรงยกวัตถุให้ค้างไว้
                                             2.3.1.2 ความแข็งแรงแบบเคลื่อนที่ (isometic or dynamic strength) หมายถึงการออกแรงสูงสุดในครั้งเดียวเพื่อต้านทานแรงต้าน โดยกล้ามเนื้อการหดตัวและความยาวของกล้ามเนื้อเปลี่ยนแปลงไปเช่น การยกของต่างๆ
                              2.3.2 ความแข็งแรงยืดหยุ่น (elastic strength) เป็นความสามารถของกล้ามเนื้อที่หดตัวสู้แรงต้านด้วยความเร็วคือการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะเป็นการออกแรงแบบสูงสุดหรือไม่สูงสุดก็ได้ เช่นการขว้างการทุ้ม หรือการกระโดด ความแข็งแรงแบบยืดหยุ่นนี้มีความหมายเดียวกับสมรรถภาพทางกายด้านพลัง
                              2.3.3 ความแข็งแรงแบบอดทน (strength endurance) เป็นความสามารถของกล้ามเนื้อที่หดตัวสู้กับแรงต้านแบบซ้ำด้วยระยะเวลานานที่สุด หรืออาจกล่าวไว้ว่าเป็นความสามารถของกล้ามเนื้อในขณะที่มีความใช้ความแข็งแรงเป็นระยะเวลานานโดยปราศจากความเมื่อยล้าเช่น การดึง การดัน หรือการป้องกันของมวยปล้ำ เป็นต้น

               2.4 ความอ่อนตัวหรือความยืดหยุ่น (flexibility) หมายถึงความสามารถของบุคคลที่จะเคลื่อนไหวข้อต่อต่างๆภายในร่างกายได้อย่างเต็มช่วงการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการงอ ดัด บิด พับ ส่วนต่างๆ การออกกำลังกายบางประเภทจะช่วยให้ความอ่อนตัวของร่างกายดีขึ้นโดยเฉพาะเช่น การฝึกโยคะเด็กๆ ส่วนใหญ่มักจะมีสมรรถภาพในด้านนี้ดี เห็นได้จากร่างกายมีความอ่อนตัวและความยืดหยุ่นของร่างกายส่วนต่างๆสูง

               2.5 องค์ประกอบของร่างกาย (body composition) เป็นสมรรถภาพทางกายที่เกี่ยวข้องกับส่วนประกอบในร่างกายเช่นมวลกล้ามเนื้อ น้ำกระดูก ของเหลว ไขมันในร่างกาย ซึ่งในที่นี้หมายถึงค่าร้อยละของไขมันในร่างกาย (%fat) ต่อ น้ำหนักตัว สุขสมรรถนะในข้อนี้เป็นตัวบ่งชี้ภาวะโภชนาการว่ามีภาวะโภชนาการเกิน(อ้วน) หรือมีภาวะโภชนาการขาด(ผอม) ซึ่งจะกล่าวอย่างละเอียดในเรื่องของการควบคุมน้ำหนักตัวต่อไป

ภาพที่ 4.9 องค์ประกอบร่างกายของมนุษย์
แหล่งที่มารูปภาพ http://na-moo.blogspot.com/2012/11/blog-post_4141.html

               2.6 ความคล่องแคล่วว่องไว (agility) ความคล่องแคล่วว่องไวหรือความคล่องตัว คือความสามารถในการเปลี่ยนทิศทางได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยที่ความเร็วและการออกแรงในการทํากิจกรรมลดลงน้อยที่สุดและยังสามารถควบคุมความสมดุลของการเคลื่อนไหวไว้ได้ เช่น การวิ่งซิกแซ็ก วิ่งกลับตัว การหลบหลีก

ภาพที่ 4.10 การฝึกความคล่องแคล่วว่องไว
แหล่งที่มารูปภาพ http://innovation.kpru.ac.th/web18/551121803/innovation/index.php

               2.7 สมดุลการทรงตัว(balance) เป็นความสามารถในการรักษาสมดุลของร่างกายเอาไว้ได้ทั้งในขณะอยู่กับที่หรือเคลื่อนไหวด้วยความเร็วและรูปแบบต่างๆ เช่น การยืนกางแขนบนขาข้างเดียว การวิ่งเลี้ยงลูกบอล การเดินบนคานทรงตัว เป็นต้น สมดุลการทรงตัวสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
                              2.7.1 การทรงตัวขณะเคลื่อนที่ (dynamic balance) เป็นความสามารถในการรักษาความสมดุลของร่างกายในขณะที่เคลื่อนไหวอยู่โดยไม่เสียสมดุล
                              2.7.2 การทรงตัวขณะอยู่กับที่ (static balance) หมายถึงความสามารถในการรักษาความสมดุลของร่างกายในขณะอยู่กับที่
            สมดุลการทรงตัวทั้ง 2 ประเภท เป็นความสามารถในการประมวลผลของสมองที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งของร่างกายความรู้สึกจากการมองเห็น ซึ่งมีตัวรับรู้อยู่ในหูชั้นประกอบกับตัวรับความรู้สึกภายในกล้ามเนื้อและข้อต่อ การพัฒนาการทรงตัวนั้นมีความสำคัญกับการออกกำลังกายหลายชนิด  เช่นยิมนาสติก

ภาพที่ 4.11 การฝึกสมดุลย์การทรงตัว
แหล่งที่มารูปภาพ https://www.google.co.th/search?q=การทรงตัว&source=lnm


               2.8 การทำงานประสานกันของร่างกาย (co-ordination) เป็นการทำงานประสานกันระหว่างระบบประสาทและระบบกล้ามเนื้อ ทำให้การเคลื่อนไหวในการทำกิจกรรมหรือทำงานมีความสัมพันธ์กลมกลืน เป็นความสามารถในการใช้ประสาทรับความรู้สึกร่วมกับส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น การเต้นรำ การตี / เตะลูกฟุตบอล ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสมรรถภาพทางกายด้านนี้จะเกี่ยวข้องกับตา มือ และเท้า เป็นส่วนใหญ่ การทำงานประสานกันของร่างกายนี้เราอาจเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า ความแม่นยำ

               2.9 พลังของกล้ามเนื้อ (muscle power) ผู้ที่สามารถเร่งความเร็วได้ดี จะมีความสามารถไปถึงความเร็วสูงสุดได้ดีกว่า และสิ่งที่ทำให้สามารถเร่งความเร็วได้ดีกว่าก็คือพลังของกล้ามเนื้อ พลังของกล้ามเนื้อคือ อัตราการทำงานของกล้ามเนื้อเป็นค่าความสัมพันธ์ของงาน (work) กับความแข็งแรง (strength) และอัตราเร็ว (velocity)

               2.10 ปฏิกิริยาตอบสนอง (reaction time) หมายถึง ระยะเวลาที่ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งเร้า เช่น แสง เสียง สัมผัส เป็นช่วงเวลาตั้งแต่มีการกระตุ้นจนถึงการเริ่มต้นเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองสิ่งกระตุ้นนั้นๆ เช่น การออกตัวอย่างรวดเร็วเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณปล่อยตัวของนักวิ่งหรือนักว่ายน้ำ เวลาปฏิกิริยานี้ เราอาจเรียกสั้นๆ ง่ายๆ ว่าความไว
               เวลาปฏิกิริยาเป็นการทำงานของร่างกาย โดยการส่งสัญญาณจากสมองไปกระตุ้นกล้ามเนื้อเพื่อหดตัวเคลื่อนไหว โดยสามารถแยกเป็นช่วงต่างๆ ได้ดังนี้
                      -เวลาปฏิกิริยา (reaction time) คือช่วงเวลาตั้งแต่สิ่งเร้าปรากฏจนถึงจังหวะแรกที่ร่างกายมีการเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองสิ่งเร้า
                      -เวลาการเคลื่อนไหว (movement time) คือช่วงเวลาตั้งแต่ร่างกายเริ่มต้นการเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองสิ่งเร้า จนถึงเวลาที่ร่างกายเคลื่อนไหวเสร็จสิ้น
                       -เวลาในการตอบสนอง (response time) คือ ช่วงเวลาตั้งแต่สิ่งเร้าปรากฏ จนร่างกายเคลื่อนไหวเสร็จสมบูรณ์ หรือเป็นเวลารวมระหว่าง เวลาปฏิกิริยา+เวลาการเคลื่อนไหว

               2.11 ความเร็ว (speed) หมายถึง ความสามารถในการเคลื่อนไหวของร่างกายจากจุดหนึ่ง ไปยังอีกจุดหนึ่งได้ในเวลาที่รวดเร็วที่สุด ความเร็วจะต้องคำนึงถึงเรื่องเวลาและระยะทางเสมอ

นอกจากนี้ คูเรตัน ได้แบ่งสมรรถภาพทางกายออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านรูปร่าง ด้านประสิทธิภาพของอวัยวะภายใน และประสิทธิภาพการเคลื่อนไหว ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

               1.องค์ประกอบของร่างกาย (Body composition) ในด้านนี้ที่เกี่ยวข้องกับสมรรถภาพเพื่อสุขภาพ จะยึดเกณฑ์การพิจารณาจากสัดส่วนปริมาณของไขมันในร่างกายกับมวลร่างกายที่ปราศจากไขมัน โดยยึดหลักการที่ว่า หากเปอร์เซ็นไขมันในร่างกายมีระดับต่ำ จะเป็นตัวชี้วัดว่าองค์ประกอบของร่างกาย มีสัดส่วนส่งเสริมความมีสมรรถภาพทางกายที่ดี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการวัดเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายมีความซับซ้อน และต้องมีการแปลงค่าที่วัดได้จากเครื่องมือที่วัด รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้วัดเรียกว่า คาลิปเปอร์ วัดไขมันใต้ผิวหนัง มีราคาแพง จึงมีการคำนวณหาดัชนีมวลกาย มาเป็นแนวทางในการคำนวณ โดยมีหลักการที่ว่าหากค่าดัชนีมวลกายที่คำนวณได้มีค่าสูงกว่าปกติถือว่าบุคคลดังกล่าวมีรูปร่างอ้วน แต่ถ้าค่าที่คำนวณได้ต่ำกว่าเกณฑ์ถือว่ามีรูปร่างผอม  ซึ่งบุคคลที่มีรูปร่าง 2 กลุ่มนี้ ควรได้รับการปรับปรุง ซึ่งสรุปขั้นตอนในการหาดัชนีมวลกายจะมีค่าปกติอยู่ระหว่าง 18.5-22.9 คำนวณจาก(กก.)/ส่วนสูง เป็นเมตรยกกำลังสองและลักษณะร่างกายควรมีบุคลิกที่ปรากฏที่แข็งแรง มัดกล้ามเนื้อแข็งแรงทรวดทรงดี มีกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อที่เป็นปกติ และขนาดรูปร่างที่เหมาะสมกับเพศและวัย
               2.องค์ประกอบด้านประสิทธิภาพของอวัยวะในร่างกาย ควรมีลักษณะ ดังนี้
                              2.1 การทำงานของหัวใจและระบบไหลเวียนของเลือดมีประสิทธิภาพ
                              2.2 มีประสาทสัมผัสด้านการเห็น การได้ยิน การดมกลิ่น การรับรสชาติ และการรับความรู้สึกที่เป็นปกติ
                              2.3 มีการหลั่งฮอร์โมนต่างๆเป็นปกติ
                              2.4 มีระบบการย่อยและการขับถ่ายเป็นปกติสมบูรณ์ รวมทั้งสุขภาพของปากและฟัน
                              2.5 มีพัฒนาการของกล้ามเนื้อและกระดูกสมบูรณ์ดี
                              2.6 การทำงานของระบบประสาทสมบูรณ์เป็นปกติ
                              2.7 มีการพัฒนาการทางเพศเป็นปกติและแข็งแรง
               3. มีประสิทธิภาพกลไกการเคลื่อนไหว ควรมีลักษณะดังนี้
                              3.1 มีความสามารถกลไก การเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐาน เช่น การทรงตัว ความยืดหยุ่น ความคล่องแคล่วว่องไว ความแข็งแรง กำลังและความทนทาน
                              3.2 มีความสามารถในการว่ายน้ำ เพื่อช่วยเหลือตนเองในยามฉุกเฉินได้
                              3.3 มีทักษะพื้นฐานด้านการเคลื่อนไหว เช่น การวิ่ง กระโดด ปีนป่าย ขว้างปา ได้ดี
                              3.4 มีทักษะในกิจกรรมเพื่อใช้ในยามว่างได้ดี เช่น ว่ายน้ำ เทนนิส โบว์ลิ่ง ขี่จักรยาน ฟุตบอล บาสเกตบอล และอื่นๆเป็นต้น

               ในทัศนะ ของเดอฟรีส์ ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของสมรรถภาพที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว อยู่ 6 ประการ
               1. ความแข็งแรง เป็นความสามารถของกล้ามเนื้อที่จะออกแรงยกน้ำหนัก หรือออกแรงต้านทานวัตถุให้สำเร็จลุล่วงได้ดี ต้องอาศัยองค์ประกอบ 3 อย่าง คือความสามารถในการใช้แรง ประสิทธิภาพของกลุ่มกล้ามเนื้อและสัดส่วน ทางกลไกระบบจักรกล เช่นระบบกระดูก
               2. ความทนทาน หมายถึง ความสามารถของกล้ามเนื้อ  ที่ทำงานติดต่อกันได้นาน โดยไม่เกิดความเมื่อยล้า
               3. ความเร็ว หมายถึง ความสามารถในการเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่งอย่างรวดเร็วและใช้เวลาน้อย
               4. พลัง หมายถึง ประสิทธิภาพในการทำงานของกล้ามเนื้อที่แสดงออกมาในรูปความแข็งแรงและรวดเร็วไม่ว่าจะอยู่ในรูปการเคลื่อนไหวหรือการรับน้ำหนัก เช่น การกระโดดสูง การงัดข้อ เป็นต้น
               5. ความยืดหยุ่นหรือความอ่อนตัว เป็นขีดความสามารถด้านช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อและการยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ
               6. ความคล่องแคล่วว่องไว เป็นผลแห่งความสามารถร่วมกันของความเร็วและความยืดหยุ่นตัวอีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับความแม่นยำในการเคลื่อนไหว

ภาพที่ 4.12 การวิ่งสายพานหัวใจ

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องของสมรรถภาพทางกาย
การเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายจะได้ผลดีมากน้อยหรือไม่เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆเหล่านี้ด้วย
1.ปัจจัยเกี่ยวกับตัวผู้ฝึก ปัจจัยเกี่ยวกับเพศ วัย สภาพร่างกาย จิตใจ และพันธุกรรม ว่ามีความพร้อมเพียงใด
2.ปัจจัยภายนอกร่างกาย หมายถึง ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่
2.1 องค์ประกอบในการฝึกมีความสำคัญมากได้แก่
     (1) ความเข้มในการฝึกส่งผลต่อความสามารถสูงสุดในการใช้ออกซิเจนตามไปด้วย
     (2) ความถี่ระยะเวลาในการฝึก
     (3) คำจำเพาะในการฝึกและการออกกำลังกาย เช่น กิจกรรมที่ใช้กำลังจะมีความสามารถสูงสุดในการใช้ออกซิเจนสูงกว่ากิจกรรมที่ใช้เพียงแขน
     (4) แบบของการออกกำลังกาย

ภาพที่ 4.13 การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
แหล่งที่มารูปภาพ http://www.hiclassspa.com/fit-gene-thanyapura/

                     2.2 อาหาร ควรมีการรับประทานอาหารอย่างครบถ้วนเพียงพอ

ภาพที่ 4.14 อาหารเพื่อสุขภาพ 
แหล่งที่มารูปภาพ http://amprohealth.com/magazine/food-for-energy/

2.3 ภูมิอากาศ สภาพอากาศที่เหมาะสมกับการเสริมสร้างร่างกายควรมีอุณหภูมิทั่วไปประมาณ 25 องศาเซลเซียส
2.4 เครื่องแต่งกายที่เหมาะสมรัดกุม
2.5 การใช้ยากระตุ้น จะก่อให้เกิดโทษมากกว่าผลดี เนื่องจากหัวใจจะต้องทำงานหนักมากกว่าปกติ
2.6 การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะทำให้หัวใจต้องรับภาระหนักเช่นเดียวกัน และยังทำให้สูญเสียการทรงตัว กรตัดสินใจผิดพลาดอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
2.7 บุหรี่ ถือว่าเป็นศัตรูของการออกกำลังกาย เนื่องจากพิษของบุหรี่จะเป็นตัวทำลายระบบการหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิต ให้สูญเสียประสิทธิภาพไป
2.8 การพักผ่อนและนันทนาการ การพักผ่อนมีความจำเป็นต่อการเสริมสร้างเนื่องจากเมื่อผู้ฝึกเหน็ดเหนื่อยจากการเสริมสร้างแล้วควรพักผ่อนให้เพียงพอ อาจจะช่วยเสริมสร้างด้วยกิจกรรม นันทนาการด้วยก็จะทำให้การพักผ่อนนั้นมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ภาพที่ 4.15 การพักผ่อนที่เพียงพอ
แหล่งที่มารูปภาพ https://www.sanook.com/women/30513/

2.9 การซ้อมเกิน เป็นผลเสียต่อการเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายเนื่องจากอาจจะได้รับบาดเจ็บ หรืออาจจะเกิดการเบื่อหน่ายต่อการฝึกซ้อมก็ได้
2.10 การเก็บตัวเกิน การเก็บตัวกีฬาเพื่อการแข่งขันหากจำเป็นต้องเก็บตัวนานๆจำเป็นต้องแบ่งช่วงเวลาการเก็บตัวออกเป็นวาระประมาณ 10-14 วัน สลับกับกิจกรรมนันทนาการหรือให้กลับไปพักผ่อนที่บ้านประมาณ 7 วัน
2.11 การอบอุ่นร่างกาย ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำก่อนและหลังการออกกำลังกายเสมอ ซึ่งจะช่วยให้ลดอัตราการบาดเจ็บ และช่วยเสริมสร้างความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี

ภาพที่ 4.16 การอบอุ่นร่างกายก่อนเล่นกีฬา
แหล่งที่มารูปภาพ http://e-football555.blogspot.com/2016/06/blog-post_70.html

สรุปท้ายบท
            สมรรถภาพทางกายถือว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้สามารถประกอบกิจกรรมการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆได้ อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสมรรถภาพทางกายที่ดีนั้นจะต้องเกิด
จากการที่ร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง มีความคล่องแคล่ว ว่องไว กระฉับกระเฉง และมีพลังงานที่มากพอ ที่จะทำให้ร่างกายมนุษย์นั้น สามารถดำเนินกิจกรรม
ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพและจะส่งผลทำให้งานที่ทำประสบความสำเร็จ
           
            การที่มีสมรรถภาพทางกายที่ดีจะช่วยให้เกิดผลได้ 3 ด้าน คือ
1. ผลดีต่อสุขภาพทางร่างกาย
2. ผลดีต่อครอบครัว
3. ผลดีต่อสังคมประเทศชาติ

สมรรถภาพทางกายที่ดีนั้นจะต้องประกอบได้ด้วยองค์ประกอบสำคัญหลักอยู่ 2 ประเภท
1. Health Related Fitness (HRF) คือ สุขสมรรถนะ เป็นสมรรถภาพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่จำเป็น ผู้ที่มีสรรถภาพทางกายด้านนี้จะต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงพร้อมที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. Skill Related Finess Motor Finess / Motor Ability (SRF) คือ ทักษะสมรรถภาพทางกายที่เกี่ยวข้องกับนักกีฬา เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการที่จะออกกำลังกายในระดับสูงเพื่อก้าวสู่อาชีพนักกีฬา

                   สำหรับการส่งเสริมสมรรถภาพทางกายนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่จะมาช่วยทำให้สมรรถภาพทางกายได้ผลดีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้
1. ปัจจัยเกี่ยวกับตัวผู้ฝึก
2. ปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม


                      อย่างไรก็ตามสมรรถภาพทางกายสามารถสร้างขึ้นได้ด้วยการทำให้ร่างกายได้ออกกำลังกายหรือมีการเคลื่อนไหวเท่านั้น สมรรถภาพทางกายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้
และหายไปได้ การที่เราจะรักษาให้ร่างกายมีสรรถภาพคงอยู่เสมอนั้น จำเป็นต้องมีการออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้มีสรรถภพาทางกายที่คงสภาพและ
เป็นการสร้างเสริมสมรรถภาพทางกายให้ดียิ่งๆขึ้น ไปอีกด้วย นอกจากนี้แล้ว
ยังเป็นประโยชน์ในการป้องกันโรคภะยเบียดเบียน โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากการขาด การออกกำลังกายได้อีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

กานดาพูลลาภทวี. 2530. สถิติเพื่อการวิจัย. กรุงเทพฯ : ฟิสิกส์เซ็นเตอร์.

กรมพลศึกษา. 2539. เอกสารงานทดสอบสมรรถภาพทางกาย. กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ.

กรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ. 2544. การประกันคุณภาพการศึกษา. กรุงเทพฯ : ครุสภาลาดพร้าว.

กรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ. 2545. เอกสารประกอบหลักสูตรการศึกษาขึ้นพื้นฐาน

กฤศดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มาและความสำคัญของสมรรถภาพทางกาย ความสำคัญต่อครอบครัว. [ออนไลน์จาก http://www.owf.go.th

เจริญทัศน์ จินตนเสรี. 2520. “บริการของศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา”, วารสารกีฬา.10 ธันวาคม, 40.    

จรวยพร ธรนินทร์. 2529. กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาการออกกำลังกาย. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

ฉัตรชัย ประภัศร. 2557. วิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย. ฉะเชิงเทรา : มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์.

พุทธศักราช 2544. กรุงเทพฯ : องค์การรับส่งสินค้าและพัศดุภัณฑ์ (ร..พ).

วันใหม่ ประพันธ์บัณฑิต. 2549. พื้นฐานวิทยาศาสตร์การกีฬา. [ออนไลน์จาก http://www.ipecp.ac.th/ipecp/cgi-binn/vni/Program/unit4/p2.html

สำนักส่งเสริมสถาบันครอบครัว. 2552

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม